ตลาดศัลยกรรมทั่วโลกมีมูลค่าพุ่งขึ้นสูงกว่า 21 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการรูปร่างที่สวยงาม โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง (Elite), กลุ่มที่เต็มใจจ่าย, กลุ่มเซเลบริตีในหลายๆ ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ ส่งผลให้มีการศัลยกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการศัลยกรรมหน้าอก ขณะที่สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgery : ISAPS) ระบุว่าในปี 2560 ทั่วโลกมีการทำศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้น 5% โดยประเทศที่ทำศัลยกรรมมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก และอิตาลี ส่วนประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8 จากเดิมเมื่อปี 2559 อยู่ในอันดับ 18 โดยศัลยกรรมเสริมหน้าอก เป็นศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 จากผู้คนทั่วโลก
ขณะที่ในประเทศไทยเองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยพบว่าในปี 2561 ตลาดศัลยกรรมในเมืองไทยมีมูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตเฉลี่ย 20% โดยตัวเลขดังกล่าวมาจากการศัลยกรรมจากโรงพยาบาล 70% และศัลยกรรมจากคลินิกเสริมความงาม 30%
นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์ เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลบางมด เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของ ISAPS พบว่า เดิมประเทศไทยมีผู้เข้ารับการศัลยกรรมเสริมความงาม อยู่ในอันดับ Top 20 แต่เมื่อปี 2560 ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 8 ของโลก และอยู่ในอันดับ Top 8 ในทุกศัลยกรรมยอดนิยม ได้แก่ ศัลยกรรมเสริมหน้าอก, ศัลยกรรมดูดไขมัน, ศัลยกรรมตา 2 ชั้น, ศัลยกรรมเสริมจมูก และศัลยกรรมตกแต่งหน้าท้อง ดังนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า คนไทยมีการยอมรับศัลยกรรมมากขึ้น
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศัลยกรรมความงามของไทยมี การเติบโตมาจากการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแพทย์นานาชาติ (Medical Hub) โดยจัดเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมในอนาคต (New S Curve) อีกทั้งศัลยแพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญและเทคนิคการผ่าตัดที่ได้รับการยอมรับระดับสากล จากการจัดอันดับของ Medical Tourism Index (MTI) โดยในปี 2559-2560 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ในกลุ่ม Medical Tourism Industry จาก 54 ประเทศใน 6 ทวีปทั่วโลก
อย่างไรก็ดี กระแสนิยมดังกล่าวทำให้วันนี้มีสถานพยาบาลที่มีการให้บริการศัลยกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยมีทั้งการขยายสาขา, การเข้ามาเปิดสาขาในรูปแบบการร่วมทุนของโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศเกาหลี เป็นต้น โดยศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ณ ปัจจุบัน คือ ศัลยกรรมเสริมจมูก, ศัลยกรรมตา 2 ชั้น, ศัลยกรรมเสริมหน้าอก, ศัลยกรรมดูดไขมัน และการฉีดไขมันเติมเต็มหน้า
สำหรับศูนย์ศัลยกรรมความงาม ร.พ.บางมด ได้รับความสนใจจากกลุ่มชาวต่างชาติ และเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศัลยกรรมที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ศัลยกรรมดึงหน้า รองลงมาคือ ศัลยกรรมตา ศัลยกรรมเสริมหน้าอก ศัลยกรรมเสริมสะโพก และศัลยกรรมตกแต่งหน้าท้อง ดูดไขมัน
ด้านนพ.สุรสิทธิ์ อัศดามงคล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลบางมด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถูกยกให้เป็นศูนย์กลางด้านความงามอันดับ 3 ของเอเชีย จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เข้ามาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาโรคเฉพาะทาง, ตรวจสุขภาพ, รับบริการด้านการชะลอวัย และศัลยกรรมความงาม เนื่องจากบริการเหล่านี้ในไทยมีชื่อเสียงและมาตรฐานใกล้เคียงโรงพยาบาลในยุโรป
สำหรับแผนการดำเนินงานของโรงพยาบาลบางมดในปี 2563 โรงพยาบาลจะใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคารศูนย์ศัลยกรรมความงามแบบครบวงจรระดับเอเชีย บนพื้นที่ถนนพระราม 2 ขนาด 12 ชั้น มาตรฐาน JCI (Joint Commission International Accreditation) ประกอบด้วยศูนย์ศัลยกรรมความงาม, Wellness Center, ศูนย์ทันตกรรมความงาม, ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (IVF), ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย, ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้านสเต็มเซลล์ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีอันทันสมัยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ
“เป้าหมายของโรงพยาบาลคือ การขยายฐานกลุ่มไฮเอนด์และชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมของศูนย์ศัลยกรรมความงาม ร.พ.บางมด ใน 9 เดือนที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะถดถอย แต่การเติบโตของรายได้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า การที่ธุรกิจศัลยกรรมความงามได้รับความนิยมอย่างมาก มาจากกระแสนิยมในทุกกลุ่มลูกค้า ซึ่งนอกจากการให้บริการศัลยกรรมจากโรงพยาบาลแล้ว ยังมีศัลยกรรมจากคลินิก รวมถึงสถานเสริมความงามเถื่อนในรูปแบบคลินิกที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ศัลยกรรม หรือแพทย์ที่มีความรู้ จึงไม่ได้มาตรฐานและส่งผลตามมาคือ รูปทรงที่บิดเบี้ยว เกิดอันตราย ฯลฯ
ทั้งนี้โรงพยาบาลยันฮีมีความพร้อมในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ที่มีความชำนาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานระดับโลก (JCI) พร้อมด้วยเครื่องมือบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งมากที่สุด อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการให้บริการด้านศัลยกรรมความงามในทุกรูปแบบแล้ว ล่าสุดโรงพยาบาลยังใช้เงินราว 50 ล้านบาทจัดตั้งศูนย์แก้ไขศัลยกรรมตกแต่งที่ไม่พึงพอใจจากที่อื่น ซึ่งโรงพยาบาลยันฮี ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เปิดศูนย์นี้
โดยในปีแรกคาดว่าจะมีคนไข้เข้ามาใช้บริการราว 1,000 ราย ส่งผลให้มีรายได้ 10 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของโรงพยาบาลในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีหน้าคาดว่าจากภาพรวมของเศรษฐกิจยังซบเซาต่อเนื่อง ปัจจัยรอบด้าน โดยโรงพยาบาลเองยังเน้นการเพิ่มการรักษาพยาบาลในแผนกต่างๆ เพื่อรองรับ และให้บริการตอบรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในด้านความสวยความงาม
หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562