สแกนสินค้าปี2562 ‘รักษ์โลก-ไฮเทค’แรง ‘ทีวีดิจิทัล-นํ้าหวาน’วูบ

28 ธ.ค. 2562 | 08:49 น.

ในแวดวงการตลาด แต่ละปีจะมีสินค้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งสินค้าในกลุ่มอุปโภค บริโภค รวมถึงบริการต่างๆ ในปี 2562 ก็เช่นกัน การนำเสนอสินค้านวัตกรรมยังเป็นกลยุทธ์หลักที่หลายแบรนด์สินค้านำมาใช้ในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขาย ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ที่ได้รับกระแสนิยมจนกลายเป็นดาวรุ่งแต่เมื่อมีแบรนด์ยอดนิยม ก็ต้องมีแบรนด์ที่ถูกเรียกว่าดาวร่วงซึ่งมีสาเหตุทั้งจากการทำตลาดไม่โดนใจลูกค้า รวมถึงไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป

 

สำหรับดาวรุ่งที่มาแรงและยังเป็นเทรนด์ส่งสัญญาณสดใสต่อเนื่องไปยังปีหน้า เห็นจะหนีไม่พ้น 3 กลุ่มสินค้านี้ เริ่มต้นที่สินค้ารักษ์โลกจากกระแสขยะพลาสติกล้นเมืองและกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก  และนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายสมาคมกว่า 75 ร้านค้า รวมช่องทางขายกว่า 2.4 หมื่นช่องทาง งดให้ถุงพลาสติก ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ รวมถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อีกกว่า 1 หมื่นสาขาก็จะงดให้ถุงพลาสติกเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่จะไปซื้อสินค้าก็ต้องเตรียมถุงผ้าหรือภาชนะไปใส่สินค้าเองด้วย การขยับตัวนำเสนอสินค้ารักษ์โลกอย่างจริงจังของผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน แน่นอนว่าในปีนี้ สินค้ารักษ์โลกกลายเป็นกระแส นิยม และเชื่อว่าในปีหน้าก็ยังร้อนแรงไม่แพ้กัน

สแกนสินค้าปี2562  ‘รักษ์โลก-ไฮเทค’แรง  ‘ทีวีดิจิทัล-นํ้าหวาน’วูบ

อีกหนึ่งสินค้าร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน คือ สมาร์ทโฮม หากย้อนดูภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยในปีนี้ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 3% หลังจากตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น โดยปัจจัยหลักคือการเข้ามาของนวัตกรรม IoT และ AI ที่ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการไดรฟ์ตลาดให้กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้งก้าวต่อไปของ สมาร์ทโฮม ไทยในปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะยิ่งเติบโตเป็นทวีคูณ เพราะนอกจากเทคโนโลยีสุดลํ้าที่ยักษ์ใหญ่แบรนด์ดังยกทัพมาบุกตลาดไทยแล้ว การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ยิ่งเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตแซงหน้าธุรกิจอื่นได้อย่างไม่ยากเย็น


 

อีกหนึ่งกระแสที่เกิดได้จาก เทคโนโลยี คือ การเข้ามาของแอพพลิเคชัน สตรีมมิ่งได้รับความนิยมตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เล่นสื่อเดิม เข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับแอพพลิเคชันสตรีมมิ่งต่างๆให้เห็นมากขึ้น อาทิ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ร่วมมือกับ Viu, รวมทั้ง BEC-Tero Music ที่จับมือร่วมกับ JOOX Music Application ทำโปรเจ็กต์พิเศษSEVEN JOURNEY 7 นี้อีกนานหวังขยายแพลตฟอร์มผู้ฟัง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยเป้าหมายที่ต้องการเข้าให้ถึงผู้บริโภคในทุกเพศ ทุกวัย ผ่านทุกๆ แพลตฟอร์ม ก่อนต่อยอดสู่รายได้ที่ตามมาสตรีมมิ่งจึงส่งสัญญาณความนิยมที่ขยายตัวมากขึ้นในปีนี้ และปีหน้า

สแกนสินค้าปี2562  ‘รักษ์โลก-ไฮเทค’แรง  ‘ทีวีดิจิทัล-นํ้าหวาน’วูบ

หันกลับมาดูสินค้าและบริการที่เป็น ดาวร่วง หนีไม่พ้นอุตสาหกรรม ทีวีดิจิทัล แม้จะแจ้งเกิดมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี หลายคนอาจมองว่าเป็นดาวร่วงตั้งแต่ปีแรก เพราะเสียเม็ดเงินประมูลมูลค่าสูงมาก แต่ยังไม่เคยทำรายได้ หรือส่งสัญญาณที่จะมีกำไรให้เห็น แต่เมื่อกสทช.” เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ไม่ไปต่อในธุรกิจ สามารถขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการได้

 

จึงเป็นที่มาให้ทั้ง7 ช่องได้แก่ ไบรท์ ทีวี ช่อง 20, สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 (NOW) , วอยซ์ ทีวี , MCOT Family ช่อง 14 , ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี ต้องปิดฉากการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล โดยบางรายเลือกที่จะไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่น ส่วนบางรายก็ขอปิดตัวเองลง

 

อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่สร้างความฮือฮาเมื่อครั้งเปิดตัวเบียร์ 0%” เพราะหลายคนสงสัยว่า เบียร์อะไร ทำไม 0% หมายถึงไม่มีแอลกอฮอล์หรือ มี แล้วทำไมถึงเป็น 0% ดื่มแล้วจะเมามั้ย ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายนักดื่มไทย ให้อยากลอง แต่อีกมุมก็มองว่า เบียร์ 0% ก็เป็นอีกกลเม็ดที่ผู้ประกอบการออกมาเพื่อเลี่ยงภาษี ที่มีการจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์

 

 แต่แล้วเบียร์ 0%” ก็สะดุดตอเข้าจังเบ้อเร่อ เมื่อกรมสรรพสามิตออกตัวแรง เสนอให้จัดเก็บภาษีเบียร์ 0% แม้มาตรการยังคลุมเครือ แต่กรมสรรพสามิต ก็ยืนยันว่าเตรียมเก็บภาษีเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ในปี 2563 อย่างแน่นอน โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดนักดื่มหน้าใหม่ ส่วนจะจัดเก็บในปริมาณเท่าใด คงต้องรอดูอีกที

 

เรื่องของการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตไม่ใช่เกิดเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวานหรือภาษีนํ้าหวาน ที่ผ่อนผันมาตลอด 2 ปี ก็เริ่มดีเดย์จัดเก็บจริงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ส่งผลอย่างชัดเจนคือ เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลสูงถูกลดบทบาทและความสำคัญลง ผู้ประกอบการในทุกกลุ่มสินค้าไม่ว่าจะเป็นนํ้าอัดลม ชาเขียว กาแฟ นํ้าผลไม้ แม้กระทั่งนมพร้อมดื่ม ต่างหันไปพัฒนาสูตรนํ้าตาลน้อย หรือโลว์ ชูการ์ ฯลฯ ออกมาทำตลาดแทน ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีนํ้าตาลสูง กลายเป็นดาวร่วงในทันที

 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

สแกนสินค้าปี2562  ‘รักษ์โลก-ไฮเทค’แรง  ‘ทีวีดิจิทัล-นํ้าหวาน’วูบ