“CDG –มหิดล” หนุนท่องเที่ยวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์คึกคัก

29 ธ.ค. 2562 | 08:39 น.

ซีดีจี จับมือม.มหิดล  ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์  พัฒนาแชทบอท- เว็บไซต์ ดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มกว่า 50%

นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่า ภายหลังการร่วมมือระหว่างโครงการ CDG Code Their Dreams กับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ โดยล่าสุดนักศึกษาจำนวน 15 คน ได้ลงพื้นที่นำผลงานจากการประกวดมาพัฒนาต่อยอด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.mahasawat.com ภาษาไทยและอังกฤษ, Facebook Chatbot และช่องทางการสร้างรายได้อย่าง e-Commerce เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์

 

“กลุ่มบริษัทซีดีจีตั้งใจที่จะนำองค์ความรู้ด้านไอทีและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของชุมชนให้ดีกว่าเดิม โดยล่าสุดนักศึกษาที่ได้รับการอบรมจากโครงการ “Code Their Dreams ได้ลงพื้นที่และนำผลงานจากการประกวดมาพัฒนาต่อยอดในด้านการสร้าง Storytelling ให้กับเว็บไซต์ชุมชน และยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกชุมชนได้มีทักษะพื้นฐานในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เรียนรู้อย่างมีเหตุผล เข้าใจตรรกะ มีทักษะความคิดที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นหลักในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ”

 

 

โดยปัจจุบันเว็บไซต์ www.mahasawat.com ได้เป็นสื่อกลางชั้นดีของชุมชนในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 5 แห่ง คือ บ้านศาลาดิน นาบัวลุงแจ่ม บ้านฟักข้าวขนิษฐา สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ และฟาร์มกล้วยไม้คุณสร้อย ในรูปแบบการทำ Storytelling นำเสนอเรื่องราว และบรรยากาศที่น่าสนใจของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติให้สนใจมาเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 50%

 

นายนาถกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพัฒนาเว็บไซต์ ยังได้มีการพัฒนาระบบ chatbot บน Facebook สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว จากแต่ก่อนที่ยังดูแลได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากขาดบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ การมี Facebook Chatbot ทำให้สามารถตอบคำถามนักท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใกล้ชิดนักท่องเที่ยวมากขึ้น

 

จากข้อมูล Global Web Index ยังระบุว่า ประเทศไทยกว่า 85% เคยซื้อสินค้าผ่านทางร้านค้าออนไลน์ และยอดขายสินค้าออนไลน์ในประเทศได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% จากปีที่แล้ว โครงการนี้จึงได้มีการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ด้วย e-Commerce platform บนเว็บไซต์ชุมชน ด้วยการโปรโมตสินค้าต่าง ๆ ของชุมชน ที่ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเลือกชม และสั่งสินค้าออนไลน์ได้แบบไม่ต้องเดินทางไป เป็นการเพิ่มรายได้ที่นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวหลัก เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์สู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้อย่างยั่งยืน

 

 

ด้าน นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบ้านศาลาดิน กล่าวว่า หลังจากซีดีจี และนักศึกษาจากม.มหิดล ได้เข้าไปถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน รวมถึงเพิ่มช่องทางการโปรโมตทั้ง Facebook, Website และช่องทางการติดต่อนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วฉับไวอย่าง Facebook Chatbot ทำให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์เป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เริ่มทยอยเข้ามาเที่ยวโดยเฉพาะช่วงวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ เฉลี่ยนักท่องเที่ยวชาวไทย 80%  และชาวต่างชาติ 20% อีกทั้งชาวบ้านจากที่ไม่มีความรู้ในด้านไอที หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็พัฒนาและใช้งานได้ดีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตนอกจากการถ่ายทอดการใช้งาน ในด้านวิธีการดูแลระบบหลังบ้านก็มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านต้องศึกษาต่อไป เพื่อให้ชุมชนสามารถทำได้เองอย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ดีกลุ่มบริษัทซีดีจี และม.มหิดลวางได้วางแผนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต ผ่านเกมเสมือนจริง ที่ประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พัฒนาร่วมกับแผนที่เส้นทางจักรยาน หรือที่เรียกว่า “ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21” สำหรับพัฒนาเด็กอายุ 6 – 8 ปี ผ่านการจำลองสถานการณ์ เน้นการฝึกฝนทักษะผ่านการแก้ปัญหา เพิ่มการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม Augmented Reality หรือ AR  มาประยุกต์ใช้ในเกมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสถานที่จริง

               

สำหรับชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดนครปฐม มีสถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่ง คือ บ้านศาลาดิน นาบัวลุงแจ่ม บ้านฟักข้าวขนิษฐา สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ และฟาร์มกล้วยไม้คุณสร้อย ซึ่งพัฒนาสื่อนำเที่ยวเชิงดิจิทัลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในรูปแบบของเว็บไซต์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ประวัติความเป็นมาของชุมชนและของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แผนที่ภาพรวมแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และส่งเสริมการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมของแหล่งท่องเที่ยว อาหารท้องถิ่น บรรยากาศการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากสวนของชาวบ้านในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละสถานที่