“ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้จึงต้องการนำเสนออีกหนึ่งแง่มุมที่เรียกว่าโอกาสในการทำธุรกิจกันบ้าง เพื่อให้เอสเอ็มอีได้นำไปปรับใช้กับธุรกิจสู้กับตลาดการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผ่านมุมมองของผู้ที่ครํ่าหวอดในแวดวงธุรกิจของเอสเอ็มอี
สบช่องดิจิทัลดันธุรกิจ
นายมงคล ลีลาธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อม และสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาค และของโลก โดยพื้นฐานของคนไทย มีการเข้าถึงสมาร์ทโฟน และสื่อออนไลน์ในรูปแบบสากลเป็นสัดส่วนที่สูง เห็นได้จากจำนวนชั่วโมงในการให้ความสนใจ และใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดในอาเซียน
ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศยังยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางของดิจิทัล โดยเฉพาะประธานกรรมการบริหาร หรือ
ซีอีโอ ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลที่ใช้เวลาศึกษาไทยทั้งเรื่องของเศรษฐกิจพื้นฐาน อาหารประเภท สตรีตฟู้ด ซึ่งไทยมีกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์สูงที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นในความคิดเห็นส่วนตัวแล้วจึงมองว่านี่คือโอกาสของเอสเอ็มอีในปี 2563 ที่จะยกระดับตนเองขึ้นมา โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเข้ากับธุรกิจ
“อุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะอาศัยความได้เปรียบทางด้านดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ โดยจะเห็นได้จากอาหารที่แต่เดิมมีจำหน่ายอยู่ตามริมถนน แต่ปัจจุบันธุรกิจสามารถคึกคักขึ้นมาได้ด้วยการเชื่อมต่อออนไลน์ด้วยแอพพลิเคชันใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งปรากฏ การณ์ในรูปแบบดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับให้ก้าวข้ามคำว่า 4.0 ซึ่งรัฐบาลได้ปูทางเอาไว้ให้ตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 63 จะเป็นโอกาสอย่างชัดเจน โดยคนตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอีจะต้องไขว่คว้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ”
นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า คำพูดที่ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนนั้น ความจริงแล้วมนุษย์ต่างหากที่เปลี่ยนโดยการติดอาวุธให้กับร่างกายผ่านทาง
สมาร์ทโฟน จากสถิติทั่วโลกพบว่าคนทั่วไปจะหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาใช้งานประมาณ 180 ครั้งต่อวัน แต่คนไทยมีสถิติอยู่ที่ประมาณ 400 ครั้งต่อวัน หากเอสเอ็มอีอาศัยพฤติกรรมดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจได้ก็จะกลายเป็นผลกำไรที่สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ จากระบบนิเวศ ที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกไทยถือว่าได้รับอานิสงส์อย่างมาก
เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บ ปัจจุบันเป็นเจ้าของแฟนเพจ Mr.Banker กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมปีหน้าคงจะไม่ได้หวือหวา ทำได้แค่เพียงประคับประคอง ขณะที่ในส่วนของธุรกิจเองก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่ยังได้ผลประโยชน์ และส่วนหนึ่งที่เสียผลประโยชน์ ฉะนั้นจึงต้องการให้เอสเอ็มอี มองภาพโดยแบ่งเป็น 3 วงกลม ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ 2. ธุรกิจ และ3. ผู้บริโภคของแต่ละธุรกิจ ซึ่งโอกาสในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีจะมาจากการเจาะ และเกาะติดพฤติกรรมของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การทำตลาดแบบทั่วไปอีก
พฤติกรรมที่เห็นได้ชัดก็คือ การมีทางเลือกที่มากขึ้น และความนิยมแชร์รูปภาพ หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่กลุ่มทำงานหรือผู้สูงวัยก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน เช่น ร้านกาแฟที่เลือกใช้ทำเลแบบทุ่งนามาเป็นจุดขาย ก็เพื่อให้ลูกค้าได้มาใช้บริการ และได้ถ่ายรูปลงโซเชียล กลุ่มวัยรุ่นจะชอบมาก แม้สถานที่ จะอยู่ไกลก็ต้องไป หรือร้านกาแฟที่ตกแต่งแบบสวนอยู่ริมคลอง โดยกลุ่มที่ชื่นชอบจะเป็นกลุ่มคนทำงานหรือผู้ที่มีอายุมากหน่อย ซึ่งได้เข้ามาซึมซับบรรยากาศ รวมถึงพักผ่อนและได้ถ่ายรูป
นอกจากนี้ เอสเอ็มอีน่าจะต้องมองในมุมของความต้องการเป็นผู้ประกอบการด้วย เช่น ในปีหน้าคาดการณ์กันว่าจะมีผู้ที่ถูกเลิกจ้าง และต้องตกงานเป็นจำนวนมาก โดยเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาจจะปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจหันมารับจ้างผลิต (OEM) มากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องการมีธุรกิจ แต่อาจจะไม่มีเงินทุนมาก และผลิตด้วยตนเองไม่ได้ แต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการทำตลาดบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แทนที่เอสเอ็มอีจะเน้นเพียงแค่การสร้างแบรนด์ของตนเอง และกระตุ้นยอดขายเพื่อให้ได้ปริมาณ
หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2562-1 มกราคม พ.ศ. 2563