ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

19 ม.ค. 2563 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2563 | 11:26 น.

สทนช.เร่งศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการคิดค่าน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ย้ำชัดเจนเกษตรกรรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบ คาดได้ข้อสรุปผลการศึกษากลางปีนี้

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มปัญหาขาดแคลนน้ำของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ด้วยปัจจัยทั้งจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การทำเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนสูง ที่นับเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันการแก้ไขบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำทางด้านอุปทาน (Supply) ผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ อาจยังไม่เพียงพอ

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการลดอุปสงค์ (Demand) ให้ผู้ใช้น้ำรู้จักคุณค่าของน้ำเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัด ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น สทนช. จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำ การกำหนดนิยาม ลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท และเสนอแนะกรอบอัตราค่าน้ำ

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

ทั้งนี้ โครงการฯ จะดำเนินการภายใต้การวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และการเงิน การบริหารจัดการ นโยบายสาธารณะ กฎหมาย ไปจนถึงการมีส่วนร่วม บนพื้นฐานการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งแนวคิด ข้อเสนอแนะ เสียงสะท้อนของปัญหา แนวทางแก้ปัญหา ความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างครบถ้วนและทั่วถึง ซึ่งในการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ จะมีการพิจารณา 2 ด้าน ประกอบกัน คือ 1) ด้านอุปทาน จะพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการน้ำอันประกอบด้วยต้นทุนในการผลิต จัดหา ขนส่ง และบริหารจัดการแหล่งน้ำ ตลอดจนต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำ เป็นต้น และ 2) ด้านอุปสงค์ จะพิจารณาปริมาณความต้องการใช้น้ำเทียบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ว่าเพียงพอหรือมากน้อยอย่างไร

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

“ขณะนี้ สทนช. และจุฬาลงกรณ์ กำลังร่วมกันศึกษาและรับฟังความเห็นเรื่องการเก็บค่าน้ำ อย่างครอบคลุมในทุกมิติ โดยการศึกษาจะช่วยให้ทราบได้ว่าการใช้น้ำประเภทใดบ้าง ที่ภาครัฐควรต้องเก็บค่าน้ำ และจะเรียกเก็บอัตราในเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ในกรอบการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพทั้งอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของความกังวลว่าการเก็บค่าน้ำจะกระทบต่อเกษตรกรหรือไม่นั้น ถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ สทนช. ในฐานะหน่วยนโยบายด้านน้ำจะทำหน้าที่ในการออกมาตรการ และส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ นำหลักการดังกล่าวไปคำนวณและประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

ที่ผ่านมาได้มีการเดินหน้าจัดประชุมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งกับหน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยงานผู้ปฏิบัติ กลุ่มนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเราจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมายมาปรับปรุงการดำเนินโครงการฯ ให้ได้มาซึ่งเกณฑ์การจัดสรรน้ำที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมต่อไป คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน