ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท เป็นตัวแปรสำคัญที่ฉุดให้การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวตํ่า และในภาวะโอเวอร์ซัพพลายเช่นนี้ ไม่เพียงธุรกิจจะต้องปรับตัวให้สอดรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น (ตารางประกอบ) แต่จะรักษาตัวอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จับประเด็นจากมุมมองของกูรูด้านท่องเที่ยวระดับโลก ที่สะท้อนแง่มุมที่เกี่ยวกับไทยมานำเสนอ
5จุดโฟกัสธุรกิจต้องรับมือ
จากข้อมูล STR นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรมระดับโลก มองว่า สิ่งที่การท่องเที่ยวของไทยจะต้องเผชิญในปีนี้ มี 5 เรื่องหลักและในแต่ละเรื่องก็ยังมีโอกาสที่ธุรกิจสามารถนำมาปรับวิธีการทำงาน
เรื่องที่ 1 การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจะต้องมีความหลากหลาย เนื่องจากตลาดจีน จะเติบโตแบบไม่หวือหวา จากปกติจะเติบโต 10-12% ตอนนี้อยู่ที่ 3-5% ซึ่งก็เป็นข้อกังวลของนานาประเทศไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น
เนื่องจากจีนมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวมากขึ้น คนจีนจึงเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ก็ยังพบว่าไทยจะมีการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี และสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เพียงมองแค่นักท่องเที่ยว แต่ยังพัฒนาเป็นกลุ่มไมซ์ได้
เรื่องที่ 2 ต้องสำรวจทิศ ทางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลักๆ เป็นเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท ความซบเซาของเศรษฐกิจโลกซึ่งนานกว่าที่คาด ทำให้เกิดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
เรื่องที่ 3 การบริหารจัด การเพื่อรับมือกับซัพพลายใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนห้องพักใหม่ในไทยที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นห้อง
นายแจสเปอร์ด ปาล์มควิส ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก STR นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม กล่าวว่า ในปี 2563 จะมีห้องพักในโรงแรมใหม่มากกว่า 5 หมื่นห้องในไทย ขณะที่ห้องพักในกรุงเทพฯมีเพียง 1.5 แห่ง การพัฒนาที่เพิ่มขึ้นนี้จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อที่ดินและทรัพยากรในประเทศ ในขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ ให้ความเห็นว่า แนวคิดการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (นิช ทัวริซึม คอนเซ็ปต์) สามารถช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในเชิงบวกและยั่งยืนได้สอดคล้องกับแนวโน้มสังคมและนักเดินทางชั้นนำของโลก
เรื่องที่ 4 ธุรกิจต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนผลประกอบการในการดำเนินธุรกิจ โดยจะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาโรงแรมในกรุงเทพฯมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น ขณะที่ ADR (Average Daily Rate)ติดลบอยู่ 1.8% แต่คาดการณ์ว่าในปีนี้หรือปีหน้า โรงแรมในกรุงเทพฯน่าจะมีรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) เติบโตราว 2.2% เพราะไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุน
เรื่องที่ 5 ในระยะยาวควรเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมองในเรื่องของกายภาพ กฎระเบียบต่างๆ ความเสี่ยงของตลาด เพื่อวางแผนพัฒนาโรงแรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ
●ไทยสูญรายได้ Q1 ร่วม 5 หมื่นล. หลัง"สี จิ้นผิง" ห้ามทัวร์จีนเที่ยวทั่วโลก
หนุนท่องเที่ยวเชิงกัญชา
นอกจากนี้ต่างชาติยังมองถึงการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวเชิงกัญชา (Cannabis Tourism) ในมุมมองของนายบอนน์ ปรมะเจริญโรจน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสำหรับ YOO Worldwide จากอังกฤษ มองว่า ประเทศไทยสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะประเทศสามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวการแพทย์รักษา โดยกัญชาในไทยมีต้นทุนถูกกว่าที่อื่นๆ ทั่วโลก และคาดว่ากัญชาในไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทภายในปี 2567
หลายสไตล์เที่ยวรักษ์โลก
อีกหนึ่งคีย์เมสเสจสำคัญ คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน
นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการซีไนน์โฮเทลเวิร์คส์ กล่าวว่า ในขณะที่ไทยยังคงมุ่งเน้นเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน แต่การท่องเที่ยวก็ลดระดับและทำลายสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดลงทุกวัน การจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงไม่ควรเน้นที่จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ควรโฟกัสไปที่การท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่า
สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2020 ที่หันมาใส่ใจโลกมากขึ้น โดยข้อมูลจาก National Geographic ชี้ให้เห็นว่ามีการท่องเที่ยวสไตล์นี้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
1. เที่ยวแบบชดเชยคาร์ บอนซึ่งผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหาวิธีช่วยลดคาร์บอนในกระบวนการให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การสร้างความรู้สึกดีให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคส่วนหนึ่งให้กับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือมีรายการชดเชยคาร์บอนให้
2. เที่ยวแบบ Microcation ซึ่งมาจากคำว่า Micro (น้อยๆ) + Vacation (พักผ่อนวันหยุด) เกิดจากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ที่ไม่มีเวลาหยุดแบบยาวๆ แต่ก็ไม่ได้อยากเที่ยวน้อยลง จึงเลือกที่จะท่องเที่ยวระยะสั้นลง และเดินทางไปซํ้าที่เดิมๆ ที่คุ้นเคย
3. โรงแรมต้องเขียวเท่านั้น 70% ของนักท่องเที่ยว มักเลือกโรงแรมที่รักษ์โลกไม่ใช่แค่พลังงานสีเขียว แต่ต้องรวมไปถึงการจัดการอาหารและขยะรวมถึงการร่วมพัฒนาไปกับชุมชน
4. เลิก “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” ไทยกำลังลดการใช้ถุงพลาสติก โดยนักท่องเที่ยวจะมี ขวดนํ้า ใช้ซํ้าได้พกติดตัว และหลายๆ โรงแรมเลิกใช้ สบู่ ยาสระผม ที่ใช้ขวดพลาสติก รวมถึงเลิกแจกหลอดพลาสติกด้วย
5. เที่ยวแบบกลับสู่ธรรม ชาติ ปัจจุบันคนจะหวนกลับมานึกถึงและอยากสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น จึงเริ่มมีโปรแกรม “การเที่ยวผ่านการบำบัดด้วยเสียง และป่าไม้ (Sound & Forest Therapy)” เน้นการฟื้นฟูจิตใจและร่างกาย เพื่อให้เกิด Personal Transformation หรือการปรับร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น
ทั้งหมดเป็นแนวโน้มของการท่องเที่ยวไทยและสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัว
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563