วันที่ 29 มกราคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เป็นประธานในประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 1/ 2563
อลงกรณ์ พลบุตร
ทั้งนี้นายอลงกรณ์เปิดเผยว่าในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐอันประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาไทย กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคประชาชน เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติขับร่วมการขับเคลื่อนบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนด้วย
นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีการรายงานล่าสุดมีผลการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ปี 2562 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 3,233,711 ไร่ และสนับสนุนงบประมาณทั้งสิ้น 3,645 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563-2564 ได้ตั้งเป้า เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมยั่งยืน รวม 1,100,100 ไร่ รวมเป็น 5,000,000 ไร่ทั่วประเทศ งบประมาณสนับสนุนกว่า 8,359 ล้านบาทและจะต้องมีเกษตรกรอินทรีย์เพิ่มขึนไม่ต่ำกว่า 80,000 ราย และเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีโครงการขับเคลื่อน ได้แก่
โครงการซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้คัดเลือกจังหวัดนำร่องเพื่อขับเคลื่อนไปแล้ว 56 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) รวมพื้นที่กว่า 3.4 ล้านไร่
การจัดทำฐานข้อมูลที่กรมพัฒนาที่ดินร่วมจัดทำกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานแล้ว 119 กลุ่ม จำนวน 40,774 ราย พื้นที่กว่า 520,000 ไร่
โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย- Organic Tourism- การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS)การควบคุมปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด การตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ตลาดของกระทรวงที่มีอยู่ หรือตลาดสีเขียว งานวิจัยเพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์. การประชาสัมพันธ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจ และสร้างการเปลี่ยนผ่านการเกษตรไทยสู่เกษตรอินทรีย์
นายอลงกรณ์ บอกด้วยว่าการประชุมครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ที่จัดตั้งร่วมกับมหาวิทยาและภาคการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) การเกษตรสีเขียวเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Greenovation Agriculture) ซึ่งนำไปสู่การเกิดความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการเกษตรไทยตลอดไปด้วย