ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไทยทา) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้มี ISO ตามความสมัครใจ ใช้บังคับไม่ได้ และยังมีหลายข้อให้ร่างประกาศนี้ไม่อิงกับประกาศจากกรมโรงงานฯ การออกประกาศซับซ้อนของกระทรวงเกษตรฯโดยไม่อ้างอิงกับประกาศกรมโรงงานฯจะส่งผลให้โรงงานของผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาต รง.4 ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะผิดกฎหมายทันที ทั้งการออกประกาศกระทรวงเกษตรฯครั้งนี้ ควรจะมีการหารือกับกรมโรงงานฯ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง
นอกจากนี้มีบางข้อในร่างประกาศนี้ (ข้อ 6.2) อาจส่อเจตนาแอบแฝงในการแบนสามสารทันทีที่หลังจากประกาศนี้ออกมา ทั้งนี้เนื้อหาในประกาศทำให้มองได้เช่นกันว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ในการกินรวบให้นายทุนบางกลุ่ม โดยการตั้งเงื่อนไขการปรับปรุงโรงงานผลิตไว้โดย ให้เวลาปรับปรุง 2 ปี แต่สำหรับ 3 สารที่จำกัดการใช้ ให้ใช้บังคับทันที
ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวจะมีเพียงโรงงานไม่กี่โรงงานที่ผ่านมาตรฐานใหม่นี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโรงงานดังกล่าวมีการทำมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ซึ่งถ้าประกาศจาก กท.เกษตรเริ่มบังคับใช้ ก็จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับโรงงานที่เข้าเกณฑ์เพียงไม่กี่โรงงานโดยทันที ทั้งนี้การร่างประกาศฯ ไปในแนวทางนี้จะทำให้เกิดความคลางแคลงใจในการร่างประกาศฯ นี้ได้ว่า เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ในโอกาสและผลประโยชน์ที่สามารถผลิต ไกลโฟเซต พาราควอต (หากไม่แบน) ได้ทันที เท่ากับเป็นการกินรวบตลาดยาฆ่าหญ้าไว้ในมือเอง
เพราะเอาระยะเวลาจำกัดมาเป็นเงื่อนไขเพื่อให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ในกรอบเวลา นอกจากนี้ เงื่อนไขอื่นๆในประกาศจาก กท.เกษตร ที่กำหนดให้โรงงานขนาดเล็กต้องปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐาน ISO จะทำให้โรงงานเหล่านั้นปิดตัวในที่สุดเพราะงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว ประมาณ 15-20 ล้านบาท
จากกรณีดังกล่าว สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันและได้เชิญตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้ประกอบการมาร่วมการประชุม ในวันจันทร์ที่ 3 ก.พ. 63 นี้เพื่อร่วมกันพิจารณาในข้อประกาศจากกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นต่อกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป