สถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรง ประชาชนเสี่ยงขาดน้ำกินน้ำใช้ในหลายพื้นที่ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานข้อมูลล่าสุด (4 ก.พ. 63) พบความเสียหายแล้วใน 31 จังหวัด ด้านพืชเสียหายสิ้นเชิง 2.03 ล้านไร่ เป็นข้าวมากสุด 1.77 ล้านไร่ พืชไร่ 2.1 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 6,624 ไร่ ทั้งนี้โรงงานแปรรูปผลไม้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำรายได้เข้าประเทศ เริ่มได้รับผลกระทบที่ชัดเจนจากภัยแล้งมากขึ้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ในภาพรวมผลผลิตผลไม้สำคัญของไทยในภาพรวมปีนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (กราฟิกประกอบ) แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ลุกลามอาจทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ได้ อย่างไรก็ดีภัยแล้งที่เกิดขึ้นเวลานี้กระทบต่อราคาผลไม้เพื่อใช้แปรรูปส่งออกของโรงงานหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
ตัวอย่างสับปะรด ราคาช่วงเดือนธันวาคม 2562 เฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ณ เวลานี้ขยับเป็น 12.40 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากโรงงานยังมีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก ราว 5,000 ตันต่อวัน ปัจจุบันมีเข้าโรงงานเพียง 3,500 ตันต่อวัน ซึ่งต้นสับปะรดที่พร้อมออกผลในช่วงซัมเมอร์ครอปจะมีประมาณ 30% จากมีพื้นที่บางส่วนเสียหายจากการขาดน้ำในการปลูก และมีความเสี่ยงตามมาคือไนเตรตในผลผลิตเกินค่ามาตรฐานกำหนด เนื่องจากการเร่งผลผลิตเพื่อตัดมาขายช่วงราคาดี จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต
มะพร้าว วัตถุดิบปี 2563 ปริมาณที่รับซื้อในประเทศได้น้อยมาก ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ราคารับซื้อมะพร้าวปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันรับซื้อที่ 19-20 บาทต่อผล และราคาเนื้อมะพร้าวขาว 40-42 บาทต่อกก. เนื่องจากราคามะพร้าวค่อนข้างสูงทำให้ส่วนใหญ่ขายเข้าตลาดหัวขูดมากกว่าโรงงาน บางโรงงานที่รับซื้อภายในประเทศ แต่ได้มะพร้าวประมาณวันละ 60 ตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการผลิต
“หากช่วงต้นปีนี้ไม่มีฝนเลย จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตมะพร้าวในประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะช่วงพีกของมะพร้าวในเดือนมิถุนายน หากน้ำน้อยจะส่งผลให้ผลผลิตน้อยลงและมีขนาดเล็ก ซึ่งในภาคส่งออกขณะนี้ทำได้เพียงการรักษาปริมาณการส่งออกของลูกค้ารายเดิม ไม่หาลูกค้าใหม่เพิ่ม จากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ รวมถึงมาตรการควบคุมการนำเข้ามะพร้าวของรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมของสินค้ากะทิไม่น่าเติบโตไปกว่าปี 2562 ที่ไทยมีปริมาณการส่งออกกะทิสำเร็จรูป 263,146 ตัน มูลค่า 12,766 ล้านบาท”
นอกจากนี้ในส่วนของข้าวโพดอ่อน แห้ว หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ราคาผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เวลานี้ภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นราว 20% ส่วนข้าวโพดหวานซึ่งโดยปกติราคาวัตถุดิบในฤดู (มี.ค.-ส.ค.) จะมีราคาต่ำกว่าข้าวโพดนอกฤดู (พ.ย.-ก.พ.) แต่ตอนนี้พบว่าราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และคาดจะยังทรงตัวที่ 5-6 บาทต่อ กก.ไปจนกว่าจะมีฝน
ด้านนายพรชัย เขียวขำ อดีตอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาราคามะพร้าวและสับปะรด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ที่ 19-20 บาทต่อผลเวลานี้ เป็นราคาที่ดีสำหรับเกษตรกร จากต้นทุนการผลิตที่ 8 บาท บวกค่าครองชีพและค่าเสียโอกาสอีก 4 บาท รวมต้นทุน 12 บาทต่อผล ซึ่งราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อยู่ที่ 15-18 บาทต่อ กก. ปกติผลผลิตมะพร้าวจะเริ่มออกมาประมาณ 50-70% อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และ 100% ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563