จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารปี 2563 ได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รายได้หายไป 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท และจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 ลงเหลือ 4.02 - 4.12 แสนล้านบาท จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มูลค่า 4.39 แสนล้านบาท แน่นอนว่าทำให้หลายผู้ประกอบการต้องออกมาปรับตัว โดยเฉพาะร้านอาหารที่ให้บริการรับประทานในร้านที่พบว่ามียอดขายลดลงถึง 60%
สอดคล้องกับที่นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ว่า กลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารมีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการลดลงกว่า 60% ทำให้ยอดขายหน้าร้านลดลง แต่ร้านอยู่ได้เพราะมียอดขายจากดีลิเวอรีราว 20% และส่วนอื่นๆ อีกราว 20% ทำให้บรรดาร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากวิกฤติดังกล่าวยังเกิดขึ้นระยะยาวก็อยากให้รัฐบาลออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสมาคมภัตตาคารไทยเองอยู่ระหว่างการหารือกับสมาชิก และรวมตัวกันเพื่อเจรจากับผู้ให้บริการดีลิเวอรีในการลดค่าอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วม เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤติ
“ร้านอาหารภัตตาคารตามต่างจังหวัดทั่วไปที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่และไม่พึ่งพาลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ แต่หัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว และในกรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจำนวนลูกค้าลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้หลายร้านต้องมาปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่”
อย่างไรก็ตามมองว่าบรรดาร้านค้าผู้ประกอบการควรมีการบริหารจัดการในการเลือกกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย การช่วยเหลือกันภายในชุมชน เพื่อยกระดับเรื่องของคุณภาพและความสะอาดความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการ
ขณะที่นางชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีกอน, จุ่มแซ่บฮัท ฯลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งร้านในเครือของบริษัททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท ฌานา และล่าสุด ร้านโภชา ต่างก็เป็นร้านที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ลูกค้าเข้ามาใช้บริการน้อยลง เนื่องจากคนเดินศูนย์การค้าลดลง ในขณะที่ยอดขายดีลิเวอรีกลับมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทยอมรับว่า จากผลกระทบของสถานการณ์ของโรคดังกล่าว ส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจอาหารในวงกว้าง ดังนั้น ฟู้ดแพชชั่นในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเชนร้านอาหารรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับลดเป้าหมายด้านยอดขายลงในระดับอัตราที่เหมาะสมและเข้ากับสถานการณ์และภาพรวมของธุรกิจโดยรวมของประเทศ
ด้านนางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหาร “ซิซซ์เล่อร์” กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อร้านทำให้จำนวนลูกค้าลดลง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคในศูนย์การค้าลดลง ทำให้บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนดีลิเวอรีที่มีการเติบโตสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด -19 เนื่องจากประชาชนไม่กล้าออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ยอดขายดีลิเวอรีเติบโตเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้า โดยต่อจากนี้เพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันที่สูงขึ้น ทั้งเจลล้างมือหน้าร้าน อาหารที่ต้องมีความสะอาดและคุณภาพ ขณะที่พนักงานก็เพิ่มมาตรการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อป้องกันไวรัสดังกล่าว
สำหรับในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการเติบโตในส่วนของดีลิเวอรีให้มีสัดส่วนยอดขายเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบันในระดับ 10% การเพิ่มช่องทางการขายใหม่ “ซิซซ์เล่อร์ ทู โก” การทำโปรโมชันใหม่ รวมทั้งการแนะนำเมนูใหม่ กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยทำให้การดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตตัวเลขตัวเดียว
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15-18 มีนาคม 2563