ขณะที่จีนได้ออกมาประกาศว่าการแพร่ระบาด ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดได้ปรับลดลงแตะเลขหลักเดียวแล้ว ซึ่งวิกฤติครั้งนี้อีกด้านหนึ่งได้สร้างโอกาสในการส่งออกเพิ่มให้กับไทยในหลายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันเส้น อาหารทะเลกระป๋อง ถุงมือยาง เม็ดพลาสติก สิ่งทอที่มีแนวโน้มได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ล่าสุดในสินค้าไก่ และสุกรก็ได้อานิสงส์เช่นกัน
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าสินค้าไก่จากจีนได้มีคำสั่งซื้อสินค้ามายังโรงงานแปรรูปไก่ของไทยจำนวน 15 โรงงานที่ผ่านการตรวจรับรองส่งออกไปจีนแล้วเพิ่มขึ้น และมีผู้นำเข้ารายใหม่จากจีนได้ติดต่อมายังสมาคมจำนวนหลายรายในแต่ละวันเพื่อช่วยประสานกับโรงงานผลิตในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งมอบ ในไตรมาส 2 และในระยะยาว แต่ส่วนใหญ่ผิดหวังเพราะเวลานี้โรงงานที่ผ่านการรับรองก็ผลิตเต็มกำลังแล้ว ไม่มีกำลังผลิตเหลือผลิตให้
“ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย ระบบโลจิสติกส์ในจีนเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว สต๊อกหลายสินค้าเริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเวลานี้มีโรงงานแปรรูปไก่ของไทยอีก 12 โรงที่ทางการจีนได้มาตรวจรับรองแล้ว รอเพียงประกาศรับรองเพิ่มอย่างเป็นทางการ หากได้รับรองจะช่วยให้ไทยส่งออกไปจีนได้อีกเท่าตัวในปีนี้”
สำหรับในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปได้ 954,000 ตัน มูลค่า 111,500 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดญี่ปุ่น 438,000 ตัน มูลค่า 59,700 ล้านบาท ตลาดสหภาพยุโรป(อียู) 320,000 ตัน มูลค่า 33,800 ล้านบาท ตลาดอื่น ๆ 196,000 ตัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท (ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดจีน 65,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 18,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 261% จากจีนมีโรค
อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาด ทำให้หมูเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องหันมาบริโภคไก่เพิ่มขึ้น)
ขณะที่ในปี 2563 ทางสมาคมตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าไก่ที่ 980,000 ตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดจีนเป็นความหวังที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ ไก่จากบราซิล สหรัฐฯ อาร์เจนตินา ชิลี ล่าสุดกำลังจะมีคู่แข่งรายใหม่คือเวียดนามที่เริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าไก่ไปยังจีนแทนเนื้อหมู หลังเวียดนามประสบปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด แต่ยังไม่น่าห่วงเพราะเวลานี้เวียดนามยังมีปัญหาเรื่องไข้หวัดนกซึ่งจีนห้ามนำเข้าสินค้าไก่จากประเทศที่มีโรคนี้
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้ไทยได้รับคำสั่งซื้อสุกรมีชีวิตจากกัมพูชา 5,000-6,500 ตัวต่อวันติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว จากปลายปี 2562 มีคำสั่งซื้อ 3,000-4,000 ตัวต่อวัน ผลจากกัมพูชามีปัญหาโรค ASF ระบาดทั่วประเทศ ทำให้มีผลผลิตสุกรลดลง และมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสุกรมีชีวิตของไทย โดยราคาส่งออกเวลานี้เฉลี่ยที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ถือเป็นราคาที่ดีจากต้นทุนเฉลี่ยเวลานี้ที่ 68 บาทต่อกก. ถือว่าต้นทุนสูงขึ้นจากภัยแล้งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซื้อนํ้ากินนํ้าใช้ในฟาร์มเพิ่มขึ้น
ด้านการส่งออกเนื้อสุกรสดแช่เย็นแช่แข็งเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ไทยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเดือนมกราคม 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 202 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 250% ตลาดส่งออกอันดับ 1 คือ ฮ่องกง มีมูลค่า 191 ล้านบาท (สัดส่วน 95%) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,188% ผลจากจีนซึ่งเป็นซัพพลายสำคัญระงับการขนส่งสินค้ามายังฮ่องกง เนื่องจากจีนมีปัญหาโรค ASF ระบาด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2563