วันนี้ (25 มี.ค.63) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เผยว่า ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างท่าทีประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะเป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ร่วมการประชุมระดับภูมิภาค รวม 5 ครั้ง แบ่งเป็น การประชุมคณะทำงานเทคนิค 3 ครั้ง เพื่อพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินการ พิจารณา การให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อการจัดทำรายงานทบทวนเอกสารด้านเทคนิค และการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับภูมิภาค 2 ครั้ง
เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อห่วงกังวลและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการของผู้มีส่วนได้เสียในระดับภูมิภาค รวมถึงจัดการประชุมระดับประเทศ เพื่อให้ข้อมูล รับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ตามระเบียบปฏิบัติ PNPCA โดยมีผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำด้านต่าง ๆ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วม ก่อนสรุปประกอบการจัดทำเป็นร่างท่าทีประเทศไทยต่อโครงการ
สำหรับสาระสำคัญของท่าทีประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ประกอบด้วย 8 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลันและช่วงเวลาไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประเทศท้ายน้ำ 2.การลดลงของปริมาณตะกอนที่มีผลต่อระบบนิเวศและธรณีสัณฐาน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร 3.การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ โดยเฉพาะน้ำโขงเปลี่ยนสี ต้องมีการศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบข้ามพรมแดนและสะสมต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำจากการบริหารจัดการเขื่อนแบบขั้นบันไดอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
4.การประมงและทางปลาผ่าน ควรมีการถอดบทเรียนด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติทางปลาผ่านของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และการติดตามผลการปฏิบัติการของเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเป็นแนวทางการปรับแบบทางปลาผ่านของโครงการ 5.ด้านเศรษฐกิจ-สังคม ควรมีการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบ และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
6.การแลกเปลี่ยนข้อมูล ควรมีการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และการติดตามการปฏิบัติการของเขื่อนแบบขั้นบันได เพื่อทราบถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ 7. ผู้พัฒนาควรมีการจัดตั้งกองทุนชดเชยและมาตรการบรรเทาผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจน 8. การถอดบทเรียนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผ่านมา
เนื่องจากมีประเด็นข้อห่วงกังวลจากกระบวนการ PNPCA ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผ่านมายังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน และยังไม่มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินการของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรีที่ได้มีการดำเนินการแล้วอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ PNPCA ของโครงการใหม่ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบกับร่างท่าทีประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้แล้ว จะนำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีประเทศไทยเสนอ สปป.ลาว พิจารณา ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางตามลำดับต่อไป
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์น้ำโขงช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม จะมีอัตราการไหลของน้ำไม่ต่างจากเดือนมีนาคม โดยปัจจุบันมีการติดตามระดับน้ำแม่น้ำโขง จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย สถานีเชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีมุกดาหาร และสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภายใน 30 มิถุนายนนี้จะมีสถานีวัดเพิ่มอีก 2 สถานี ได้แก่ สถานีบึงกาฬ สถานีอำนาจเจริญ
ทำให้ประเทศไทยมีสถานีเพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าการศึกษาผลกระทบจากปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลของตะกอนที่พัดพาเป็นสีครามใสในภาวะตะกอนต่ำมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์คุณภาพน้ำแม่น้ำโขง ในพื้นที่ อ.เมือง นครพนม และ เมืองท่าแขก สปป.ลาว พบว่า ผลการศึกษาโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะช่วงหน้าน้ำในปีนี้คุณภาพน้ำในด้านตะกอนแขวนลอยจะเพิ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ คุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นตะกอนแขวนลอยซึ่งลดลงมาก
อย่างไรก็ตามคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประธานคณะทำงานฯ จะเร่งทบทวนข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการศึกษาไว้แล้วโดยเฉพาะโครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557- 2561 มาวิเคราะห์ในมิติต่างๆ
เช่น ด้านระดับน้ำและอัตราการไหลคุณภาพน้ำการทับถมตะกอนการพังทลายของตลิ่ง ด้านประมง การบริการของระบบนิเวศมาตรการลดบรรเทาและแผนการปรับตัวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อนำไปสู่มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร่งด่วนต่อไปด้วย