ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการประเมินพบว่าจากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ในครั้งนี้ จะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทางลบประมาณ 1,333 ล้านราย คิดเป็น 44% ของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมดในจำนวนนี้แยกเป็น ธุรกิจค้าปลีก 873,360 ราย ร้านอาหาร เครื่องดื่ม 330,875 ราย ที่พัก โรงแรม บริการการท่องเที่ยว 45,430 ราย บริการขนส่ง 64,885 ราย กีฬา นันทนาการ 18,355 ราย ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดนี้ มีการจ้างงานประมาณ 4,088,002 คน คิดเป็น 25% ของแรงงานทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงเกิดขึ้นกับกลไกสำคัญของธุรกิจได้แก่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมี supply chain ต่อเนื่องไปถึงธุรกิจรายย่อยทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ร้านอาหาร สปา ที่พักขนาดเล็ก และบริการขนส่ง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่บริโภคสินค้าในประเทศไทยที่ลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบทางอ้อมเกิดจาก ผู้บริโภคระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอย และหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทน
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า เอสเอ็มอีในภาคบริการ ที่มีสัดส่วน 44% ของ จีดีพี (GDP) เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก การขนส่งคน และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดสถานบริการ ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และประชาชนขาดความมั่นใจลดการใช้จ่ายในด้านบริการ รองลงมาเป็นภาคการค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วน 31.4% ของ จีดีพีเอสเอ็มอี และภาคการผลิต ซึ่งคิดเป็น 24.6% ของ จีดีพีเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ยังพบว่าภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 สูงสุด คือ ภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว เนื่องจากมีธุรกิจท่องเที่ยว และการผลิตเพื่อส่งออกหนาแน่นที่สุด ส่วนภูมิภาคที่รับผลกระทบของโควิด-19 น้อยที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนธุรกิจท่องเที่ยวน้อยกว่าภาคอื่น
“แรงงานที่ถูกปลดและกลับไปทำงานในภาคเกษตร ก็จะเจอกับปัญหาภัยแล้ง งานหาย เงินหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ ซึ่งทางสสว. ก็กำลังเร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การเสริมความรู้อบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เป็นต้น”
สำหรับ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหากวิกฤตโควิด-19 ฟื้นตัวเร็ว คือประมาณเดือนเมษายน คาดว่าภาคเอสเอ็มอี จะสูญเสียรายได้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของ จีดีพีเอสเอ็มอี แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปถึงปลายปี คาดว่า เอสเอ็มอี จะสูญเสียรายได้ถึง 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2% ของ จีดีพีเอสเอ็มอี ดังนั้น คาดการสถานการณ์ที่ดีที่สุด จีดีพีเอสเอ็มอี ปีนี้จะอยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท และกรณีร้ายแรงที่สุดจะอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท