‘เยียวยาเกษตรกร’ จ่ายหมื่นห้า ยอดขึ้นทะเบียนพุ่ง13 ล้านครัวเรือน

12 เม.ย. 2563 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2563 | 12:08 น.

รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน 9 ล้านครัวเรือนรอบเดียว ด้านกระทรวงเกษตรฯ ของบจ่าย 3 หมื่นต่อครัวเรือน เยียวยาภัยแล้ง โควิด-19

กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเบื้องต้นได้มีการหารือความเหมาะสมในการจ่ายเงินว่าควรจะเป็นเท่าไร ซึ่งมีทั้ง10,000 บาท 15,000 บาทไปจนถึง 30,000 บาท ล่าสุดได้ข้อสรุปตรงกันถึงความเหมาะสมว่าควรจะเป็น 15,000 บาท ในจำนวนหัวหน้าครอบครัวเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้จะยึดโยงข้อมูลที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนหน้านี้ และตรวจสอบกับฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. โดยการจ่ายเงินให้กลุ่มเกษตรกรจะจ่ายเพียงรอบเดียว 15,000 บาท ต่างจากการจ่ายเยียวยา 5 พันบาทให้อาชีพอิสระที่จ่ายเป็นรายเดือนไป 3เดือนก่อนจะขยายออกไปภายหลัง

อย่างไรก็ดีข้อมูลของกระทรวงการคลังกับกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ตรงกันในแง่จำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

อัพเดท

"เฉลิมชัย"สั่งเร่งปรับปรุงข้อมูล"ทะเบียนเกษตรกร"รับเงินช่วยเหลือ

ชงครม.ของบ ช่วยเกษตรกรเพิ่ม1.4พันล้าน

“ในช่วงที่รัฐจะจ่ายเงินและมีการขึ้นทะเบียนจะมีปัญหาข้อมูลทุกครั้ง สมัยก่อนตัวเลขชาวนาและผลผลิตข้าวในโครงการประกันรายได้ในอดีต ก็มีตัวเลขบวมมาแล้ว แม้จะมีการทำประชาคมก็ตาม แต่เที่ยวนี้ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันให้มากที่สุด และเฉพาะครัวเรือนที่เดือดร้อนจากพิษภัยโควิดจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาโควิด-19 ของรัฐบาลผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่จ่ายเงินล็อตแรกไปแล้วรายละ 5,000 บาท แต่เกษตรกรยังไม่เข้าข่ายเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันแล้ว รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้เป็นการเฉพาะ โดยเบื้องต้นจะใช้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการช่วยเหลือครอบครัวละ 30,000 บาท 

เร่งสรุปจำนวนเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯไปประสานการทำงานกับปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการเร่งด่วน เพื่อจัดทำทะเบียนเกษตรกรให้ครอบคลุมครบถ้วน

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรบางส่วน เช่น กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มนาเกลือ และกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐจะไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของธ.ก.ส. และกระทรวงการคลัง รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนปาล์มและชาวสวนยาง ที่ตกหล่นไม่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการประกันรายได้เกษตรกร เมื่อรวบรวมได้แล้วจะนำเสนอครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้

พร้อมทั้งได้กำชับให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรไม่เกิดการล่าช้า โดยได้เสนอต่อกระทรวงการคลัง แบ่งเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเกษตรกรที่มีทะเบียนในฐานข้อมูลอยู่แล้วให้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรได้ทันที และกลุ่ม 2 เป็นกลุ่มที่ตกหล่นไม่มีชื่อ และต้องขึ้นทะเบียนใหม่โดยกระทรวงเกษตรฯจะช่วยธ.ก.ส.และกระทรวงการคลังเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด

ชงครอบครัวละ 3หมื่นบาท

สำหรับกรอบวงเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นคาดว่า จะอยู่ประมาณครัวเรือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 6 เดือน เพราะเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ต้องช่วยเหลือให้มากที่สุด เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งและถูกซํ้าเติมต่อเนื่องด้วยวิกฤติโควิด-19 ขาดทุนเป็นหนี้สินทุกครัวเรือน มั่นใจว่ากรอบวงเงินที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ รัฐบาลพร้อมที่จะอุ้มชูเยียวยาเกษตรกรทุกกลุ่ม

หากประเมินกลุ่มเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรมีอยู่จำนวนกว่า 13 ล้านครัวเรือน อาจจะต้องใช้เงินช่วยเหลือประมาณ 4 แสนล้านบาท เป็นอย่างตํ่า

‘เยียวยาเกษตรกร’ จ่ายหมื่นห้า ยอดขึ้นทะเบียนพุ่ง13 ล้านครัวเรือน

ยันต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะจ่ายเงินให้กับเกษตรกร แต่กลัวจะไม่ครอบคลุม เนื่องจากเป้าหมายของรัฐบาลที่จะจ่ายให้เกษตรกรอยู่ 9 ล้านครัวเรือน แต่เกษตรกรจริงมีมากกว่านั้น และบางคนก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลทำให้รอบคอบเนื่องจากชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน บางคนเช่าที่ ไม่ได้ไปลงทะเบียนแต่คนที่ไปลงทะเบียนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ตรงนี้น่าเป็นห่วงว่าที่เกษตรกรตัวจริงจะไม่ได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐบาล

ล่าสุดวันที่ 13 เมษายน 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรฯ ประสานการทำงานกับปลัดกระทรวงการคลัง ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาลมากที่สุดเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

การปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล จะไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงการคลัง ทั้งกลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มนาเกลือ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนปาล์ม และชาวสวนยางพารา ที่รายชื่อตกหล่นไม่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนอกจากนี้กำชับให้จัดทำแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยแบ่งเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกรที่มีทะเบียนในฐานข้อมูลอยู่แล้ว ให้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรได้ทันที ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่มีชื่อต้องขึ้นทะเบียนใหม่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ปรับปรุงแอพพลิเคชัน สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล หรือ Farmbook ในช่วงที่ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2562/63 และติดตามผลการโอนเงินที่รับจากโครงการประกันรายได้ ปัจจุบัน Farmbook มีเกษตรกรเข้ามาปรับปรุงทะเบียนกว่า 6 ล้านครัวเรือน

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและต้องการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรสามารถใช้งานแอพพลิเคชัน Farmbook ผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนเพื่อแจ้งข้อมูล 4 ประเภทคือ

1. การแจ้งปรับปรุงข้อมูลกิจกรรมการเพาะปลูก เฉพาะแปลงเดิมที่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ในปีการผลิตที่ผ่านมาคือ ข้อมูลเอกสารสิทธิ์ เช่น เนื้อที่ ที่ตั้ง พิกัด กิจกรรมการเกษตร ประกอบด้วย ชนิด พันธุ์พืช วันที่ปลูก วันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เนื้อที่ปลูก ปีเพาะปลูก และประเภทการทำการเกษตรกรรมยั่งยืน

2. การติดตามผลการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร แสดงรายละเอียดแปลงที่มีการแจ้งปลูก เพื่อติดตามสถานะการแจ้งปลูก ทั้งนี้ แปลงที่แจ้งปลูกผ่านแอพพลิเคชัน สามารถลบ แก้ไข กรณีแจ้งปลูกผิด แต่สถานะการแจ้งปลูกต้องยังไม่จัดชุด ส่วนแปลงที่แจ้งปลูกผ่านเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งลบ แก้ไขที่สำนักงานเกษตรอำเภอเท่านั้น

3. การติดตามผลการเข้าร่วมโครงการภาครัฐด้านการเกษตร โดยแสดงรายการโครงการที่เข้าร่วมและผลการโอนเงินตามเงื่อนไขโครงการ

และ 4. การคาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยแสดงรายละเอียด ช่วงวันที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดการณ์ผลผลิต คาดการณ์กำไร และราคาขาย

จากสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ใช้งาน Farmbook ทางระบบออนไลน์ โดยสำรวจเฉพาะเกษตรกรที่ลงทะเบียนใช้งานแอพพลิเคชั่น พบว่า เกษตรกรความพึงพอใจการใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้เพราะสะดวกและรวดเร็ว ตลอดจนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐด้วย อีกทั้งยังเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ไม่ต้องเดินทางมาสำนักงานเกษตรอำเภอช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความปลอดภัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำไว้อย่างเคร่งครัด

ล่าสุด 17 เมษายน 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เร่งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรรายเดิมและขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตามนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงทะเบียนและขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2563 เพื่อให้เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ดังนี้

1. กรณีเป็นเกษตรกรที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร (เกษตรกรรายใหม่ แปลงใหม่) หรือเป็นเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ต้องการเพิ่มเติมข้อมูลพื้นที่ปลูกแปลงใหม่ (เกษตรกรรายเดิม แปลงใหม่) เมื่อเกษตรกรทำการปลูกพืชแล้ว 15 วัน สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่บ้าน ด้วยการกรอกแบบฟอร์มการขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.01) ให้ชัดเจนอ่านง่ายแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิการถือครองที่ดิน พร้อมลงวันที่กรอกแบบฟอร์ม ทบก.01 ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://farmer.doae.go.th/

หรือขอรับได้ที่ผู้นำชุมชน แล้วนำเอกสารทั้งหมดส่งให้กับผู้นำชุมชนรวบรวมจัดส่งให้เจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตร เพื่อดำเนินการบันทึกเข้าในระบบทะเบียนเกษตรกร และลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจขอหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

2. สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และต้องการจะปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร (เกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม) ขอให้ดำเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านทางแอปพลิเคชั่น Farmbook เท่านั้น โดยใช้รหัสทะเบียนเกษตรซึ่งระบุอยู่ในทะเบียนเกษตรกรลงชื่อเข้าใจงานแอปฯ  ซึ่งการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คือ การแจ้งปลูกพืชทุกฤดูเพาะปลูก หลังจากปลูกพืชชนิดนั้นๆ แล้ว 15 วัน 

กรณีข้าว/พืชไร่ หรือกรณีพืชอายุสั้น หรือแจ้งปรับปรุงเป็นประจำทุกปีกรณีไม้ผล/ พืชยืนต้น อีกทั้งเกษตรกรหัวหน้าครัวเรือน สามารถแก้ไขปรับปรุงข้อมูลส่วนของสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรที่เคยแจ้งไว้ตอนขึ้นทะเบียน แต่ไม่สามารถเพิ่มสมาชิกในครัวเรือนผ่านแอปพลิเคชั่น Farmbook ได้