นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม วงเงินรวม 1,443 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1.การเพื่อช่ยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2562 จำนวน 1.5 แสนรายได้รับเงินชดเชยส่วนในโครงการประกันรายได้เพิ่มเติมในอัตรา 29 สตางค์ต่อกิโลกรัม วงเงินรวม 670 ล้านบาท 2.การเพิ่มวงเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 460 ล้านบาท และ 3.การทำประกันภัยพืชผลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร หากประสบปัญหาภัยพิบัติ วงเงิน 313 ล้านบาท
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คณะกรรมการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมติขยายระยะเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งโครงการเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 - 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งจะครบกำหนดในอีก 2 เดือน
เมื่อพิจารณาแล้วผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2562 ไม่ได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ ในอัตรา 29 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) ประมาณ 1.5 แสนราย ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่ม 670 ล้านบาท จึงให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยให้ในปีถัดไป และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการทำประกันภัยพืชผลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร หากประสบปัญหาภัยพิบัติ 7 ชนิด ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาพายุ เป็นต้น และโรคระบาด โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันให้กับเกษตรกรในอัตราไร่ละ 160 บาท
แบ่งเป็นรัฐบาลจ่าย 96 บาท ธ.ก.ส. ช่วยจ่าย 64 บาท หากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหายจายภัยพิบัติ จะได้รับการชดเชยไร่ละ 1,500 บาท แต่ถ้าเป็นโรคระบาด จะได้รับชดเชยไร่ละ 750 บาท ใช้วงเงิน 313 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยให้ภายหลัง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรผูเปลูกมันสำปะ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มีมติให้เพิ่มวงเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพราะขณะนี้ราคาหัวมันสดมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เชื้อแป้งไม่ได้ตามเกณฑ์ และยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดต่างประเทศมีปัญหาในเรื่องของการนำเข้าสินค้า
สำหรับวงเงินที่มีอยู่เดิมในการช่วยเหลือเกษตรกรนั้นไม่น่าจะเพียงพอที่จะจ่ายชดเชยรายได้ โดยที่ประชุมพิจารณาจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 460 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่เบื้องต้น การจ่ายเงินจะให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะชดเชยให้ปีถัดไป
“ปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกันรายได้มันสำปะหลังที่กก.ละ 2.50 บาท มีกำหนดจ่ายเงินชดเชยรวม 12 งวด เดือนละ 1 งวดทุกวันที่ 1 ของเดือน จ่ายมาแล้ว 5 งวด คงเหลือ 7 งวด และงวดถัดไปจะจ่ายวันที่ 1 พ.ค.2563 แต่ราคาปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 2.08-2.10 บาท ทำให้ต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตได้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 50% คงเหลืออีก 50%"
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ ทำให้ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 12 ที่ยังค้างอยู่นั้นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม จึงต้องเร่งเสนอ ครม. พิจารณา ซึ่งรวมแล้วจะต้องของบเพิ่มประมาณ 1,443ล้านบาท ”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอความร่วมมือไปยัง 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง โดยขอให้ไปหารือร่วมกันร่วมกับตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะช่วยรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรในราคากก.ละ 2.30 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% ได้หรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในยามวิกฤต และช่วยลดภาระของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายส่วนต่าง โดยขอให้มีคำตอบโดยเร็วที่สุด
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ได้ดำเนินการมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังพบปัญหามีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ตั้งศูนย์รับเรื่องจากเกษตรกรที่เชื่อว่าตนเองมีสิทธิ์จากนโยบายประกันรายได้ แต่ไม่ได้รับเงิน หรือติดปัญหาอุปสรรคใดๆ ให้แจ้งเรื่องเข้ามายังสายด่วน 1569 จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องให้เป็นการเฉพาะและตรวจสอบข้อมูล ก่อนสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับชดเชยส่วนต่างต่อไป