นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้มองเห็นโอกาสในวิกฤติ พ้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO,องค์การอนามัยโลก (WHO) ,องค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ วิเคราะห์ตรงกันว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในโลกโดยเฉพาะประเทศที่ผลิตอาหารไม่ได้
จึงต้องทำแผนสำรองอาหาร และแผนแรงการผลิตเพื่อที่จะใช้โอกาสในการช่วยชาวโลกและประเทศต่างๆที่ขาดแคลนอาหาร และจะกลับมาฟื้นตัวใหม่ก่อนที่ไวรัสระบาดอย่างน้อยจะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี
“ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารอันดับ12 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารลำดับ2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน เราจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก และได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยกว่าประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารรายอื่นของโลก และนี่คือโอกาสที่ประเทศไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานการผลิตภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นพืช ปศุสัตว์ ประมง”
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอที่จะให้ดูแลเกษตรกรทุกครัวเรือน เพราะผลกระทบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้กำลังซื้อลดลง และทำให้การส่งออกลดลงถึงขั้นติดลบ
“ต้นน้ำ” คือเกษตรกร ถ้าไม่สามารถอยู่ได้จากสถานการณ์ด้านผลิตและราคาก็จะเลิกทำการเกษตร ผลผลิตรวมจะลดลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯสั่งการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) "จัดทำแผนสำรองอาหารแห่งชาติ" แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ส่งออกลำดับต้นๆของโลก แต่จะต้องไม่ให้ในประเทศเกิดการขาดแคลน
ยกตัวอย่างเช่น ข้าว จากปกติเคยผลิตได้ปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือก 20 ล้านตันข้าวสาร จากกระทบภัยแล้งปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้ปีนี้คาดการณ์จะมีผลผลิตประมาณการว่า 27.5 ล้านตันข้าวเปลือก ก็ลดลงไปกว่า 2 ล้านตันข้าวเปลือก แต่เราจะต้องใช้ในการบริโภคและทำพันธุ์อยู่ประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร หรือ 15 ล้านตันข้าวเปลือก
ดังนั้นจึงมีการประชุมระหว่าง " 2 รัฐมนตรีเกษตรฯ และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์"อย่างต่อเนื่อง หารือกันตลอดเวลาเพื่อสร้างสมดุล และไม่ให้เกิดการขาดแคลน จึงมีแผนสำรอง และต้องไม่เป็นอุปสรรคกับการส่งออก แต่การส่งออกก็จะไม่ให้กระทบต่อการบริโภคและเกิดปัญหาในประเทศ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงจึงเสนอให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างน้อย 6 เดือน เดือนละ 5 พันบาท เพราะเหตุผลดังกล่าวนี้ "ไม่ใช่เกษตรกรจะได้อภิสิทธิ์สูงกว่าคนอื่น แต่ว่าการเยียวยาเกษตรกรก็คือการรักษาสถานภาพการผลิตและการส่งออก" ซึ่งประเทศนี้จะอยู่ไม่ได้จะส่งผลทำให้ธุรกิจในประเทศหยุดหมด และไม่มีการส่งออก
ถึงแม้จะมีการชะลอตัวเศรษฐกิจในประเทศการค้าในประเทศ "แต่การส่งออกจะเข้ามาช่วยดูแลประเทศนี้และคนไทยทั้งประเทศ" นี่เป็นเหตุผลสำคัญทำไมกระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอช่วยเกษตรกรมากกว่าทุกกลุ่มอาชีพ