ในที่สุดโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ของการบินไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอันดับ 1 ของโลก ในด้านการส่งมอบตรงเวลาในราคาที่เหมาะสม และมีคุณภาพรวมถึงความปลอดภัย โดยดึงบริษัท Airbus S.A.S หรือแอร์บัส เข้ามาร่วมลงทุน และยังเป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ต้องล้มกระดานลงไป
เมื่อในที่สุดในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา แอร์บัสไม่ได้ ยื่นข้อเสนอในการร่วมทุน ซึ่งเป็นไทม์ไลน์การเปิดแอร์บัสเข้ามายื่นข้อเสนอในการร่วมทุน หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ได้ขยายเวลาให้ไปอีก 45 วันนับจากวันที่ 6 มีนาคม2563 ที่กำหนดให้เอกชนมายื่นข้อเสนอในการร่วมทุน แต่แอร์บัสก็ไม่ได้มายื่นข้อเสนอในวันดังกล่าว
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ดีลกันมานานกว่า 2 ปีนับจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เปิดแนวรุกล็อบบี้ให้แอร์บัสเข้ามาร่วมลงทุน เพราะในขณะนั้นแอร์บัสแสดงความสนใจที่จะเข้ามาทำโครงการนี้ร่วมกับการบินไทย ในขณะนี้โบอิ้ง ตอบปฏิเสธว่าไม่สนใจ ต่อมาครม.มีมติตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2561 เห็นชอบให้การบินไทย เชิญชวนแอร์บัสมายื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนMRO อู่ตะเภา และการบินไทยได้ออกประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งแอร์บัสผ่านคุณสมบัติและต้องเข้ามายื่นข้อเสนอร่วมทุนครั้งนี้กับการบินไทย
การถูกแอร์บัสเท ก็ทำให้MRO แห่งนี้ ที่จะใช้แบรนด์แอร์บัสในการดำเนินธุรกิจ ก็ต้องล้มไป ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาร่วมทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส แรกๆก็ไปได้ดี และได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนแล้วว่า เห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น
จึงมีกรอบการพัฒนาว่าศูนย์ซ่อมแห่งนี้ จะมีการซ่อมใหญ่อากาศยาน(Heavy Maintenance) สามารถรองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้ 110 ลำต่อปี และอากาศยานลำตัวแคบ 130 ลำต่อปีการซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Line Maintenance) รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและแคบได้ 70 เที่ยวบินต่อวันและการพ่นสีอากาศยาน ทั้งลำตัวแคบและลำตัวกว้างราว 22 ลำต่อปี และจุดเด่นจะเป็นสมาร์ทแฮงการ์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก ให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง
แต่มาติดในขั้นตอนการเจรจา โดยเฉพาะหนังสือเชิญชวนFRI ที่มีการแก้ไขกันอยู่หลายรอบ ซึ่งแอร์บัสมองว่าผูกมัดจนเกินไป แต่ฝ่ายกฎหมายของการบินไทย ก็มองเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นหลัก และหลักเกณฑ์ที่วางร่วมกัน ก็เหมือนคุยกันคนละภาษา ซึ่งแอร์บัสอยากให้มีความชัดเจนก่อนการร่วมลงทุน เมื่อคุยกันไม่เคลียร์
ประกอบกับแอร์บัสมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใหม่ การเจรจาก็เหมือนกับต้องเริ่มกันใหม่หมด และในขณะนี้ก็ได้รับผลกระทบทางธุรกิจของโควิด-19 ทำให้แอร์บัส จึงไม่ได้หันมาโฟกัสในเรื่องนี้
ทำให้จากนี้การบินไทยและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะต้องแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะถึงอย่างไรโครงการนี้จัดเป็นโครงการสำคัญในอีอีซี ถ้าโครงการนี้ไม่เกิด จะทำให้การต่อจิ๊กซอร์การพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา ก็คงไม่สมบูรณ์ ซึ่งตามแผนMRO จะต้องพยายามเปิดให้บริการให้ได้ภายในปี 2565–2566
ประกอบกับธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ ก็เป็นอีกหนึ่งในการแสวงหารายได้ในระยะยาวให้กับการบินไทยด้วยเช่นกัน ตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งแนวทางต่อจากนี้การบินไทย กำลังจะต้องพิจารณาทางออกที่เหมาะสมใน 3 แนวทางได้แก่ 1.การหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ 2.การบินไทยลงทุนเองทั้งหมด และ3.การบินไทยลงทุนก่อน และทยอยหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน
การลงทุนในโครงการนี้ของเอกชนตามแผนที่ศึกษาไว้จะอยู่ที่ราว 4 ,255 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือ ส่วนภาครัฐโดยกองทัพเรือจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 6,333 ล้านบาท โดยเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กองทัพเรือตลอดอายุสัญญาเช่าพื้นที่ 50 ปี ในพื้นที่ 200 ไร่ รวมโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 10,588 ล้านบาท