วันหยุดยาวช่วงปลายปี หลายคนวางแผนกลับบ้านหรือท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเดินทางโดยเครื่องบิน ขับรถ หรือจะเป็นผู้โดยสารที่ต้องเตรียมตัว เตรียมใจ พบกับปัญหาต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการจราจรที่ติดยาว ความแออัดจากผู้คน จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม และมีวิธีดูแลและป้องกัน กับปัญหาที่มักจะพบในระหว่างเดินทาง
เมื่อต้องนั่งเครื่องบินนานๆ ปัญหาเกี่ยวกับร่างกาย ที่พบได้บ่อย คือ เท้าและขาบวม ตะคริวที่น่อง ปวดเข่า ปวดเมื่อยหลัง ปวดคอ หูอื้อ เวียนศีรษะ ฯลฯ
วิธีแก้ไขเบื้องต้น
• สวมเสื้อผ้า และรองเท้าที่สบาย หลวมเล็กน้อย ไม่ใส่รัดรูปเกินไป
• เหยียดเข่าให้ตึง กระดกข้อเท้า สลับซ้าย ขวา ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
• วางฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง ให้เต็มพื้น ออกแรงยันพื้น จะรู้สึกเหมือนต้นขาด้านหลังกับก้นลอยขึ้น ยืดหลังให้ตรง แล้วบิดตัวไปด้านซ้ายขวา ให้เต็มที่ ช่วยลดอาการปวดหลัง
• หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สัก 2-3 นาที แล้วหายใจออก ยาว ๆ สัก 5 รอบ แล้วตามด้วยกลืนน้ำลาย เมื่อรู้สึกว่าหูอื้อ หรือเวียนหัว
• ลุกขึ้นเดิน บ่อยๆ ตามโอกาสอันสมควร
เมื่อต้องขับรถเดินทางไกลต่อเนื่องหลายชั่วโมง ปัญหาที่พบได้บ่อย ปวดต้นขา ปวดเข่า ปวดน่อง เป็นตะคริว ปวดหลัง ปวดสะบักคอบ่า ปวดกระบอกตา ล้าเมื่อยทั้งหัว เนื่องจากการขับรถต้องใช้ร่างกายเกือบทุกส่วน และต้องใช้ประสาทสัมผัสหูตา ตลอดการขับรถ หากต้องเดินทางต่อเนื่องนานๆ เลยจำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดีดังนี้ค่ะ
• ตรวจสอบสภาพรถก่อนการเดินทาง
• เตรียมหมอนเล็กๆเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการดันหลังช่วงล่างให้ยืด ป้องกันการเมื่อยหลัง เบาะนั่งควรปรับให้ก้นสูงกว่าเข่า เพราะการปรับให้เข่าชันสูงกว่าข้อพับสะโพกจะทำให้หลังรับน้ำหนักมากเกิดอาการปวดหลังได้ง่าย พร้อมกับใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว คล่องต่อการเคลื่อนไหวขยับตัว ปรับพวงมาลัยในระดับต่ำกว่าอก เพื่อไม่ต้องยกบ่าเวลาขับ ปรับเบาะให้จับพวงมาลัยในท่างอศอกเล็กน้อย เพื่อลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้ออก
• ควรแวะพักปั้มน้ำมันทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เพราะหากขับรถต่อเนื่องมากเกิน กล้ามเนื้อจะล้าเสี่ยงต่อการปวดเมื่อย
• เมื่อลุกจากรถ ควรยืดกล้ามเนื้อหน้าขา และกล้ามเนื้อเนื้อน่อง สัก 5 รอบ เพื่อให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ใช้งานมากในท่านั่ง หมุนหัวไหล่ ยืดอก หายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกและแขนได้ผ่อนคลายจากการที่ต้องเกร็งนานๆ ในการบังคับพวงมาลัย
• ในขณะที่ขับรถหากมีอาการปวดก้น หรือล้าหลังให้ใช้เท้าซ้ายยันกับพื้น ให้รู้สึกต้อนขากับก้นได้หดตัวเป็นจังหวะประมาณ 3-5 ครั้ง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดเพื่อบรรเทาอาการ
• เมื่อถึงที่หมาย ควรยืดเหยียดแล้วอาบน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และเมื่อนอนพักควรยกเท้าและขาสองข้างสูง เพื่อให้การไหลกลับของเลือดเป็นไปได้อย่างคล่อง ลดความเมื่อยล้าขา และลดอาการบวมของเท้าและขา
ขอบคุณ : ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)