ประมงพาณิชย์เดือด เรือที่มีอาชญาบัตรถูกต้อง ไม่พอใจกรมประมงกลับคำ นำเรือ 3 พันลำ ทั้งอาชญาบัตรผิดประเภท/เรือที่ไม่มีอาชญาบัตร ขึ้นทะเบียนได้ เผยทำให้วันทำประมงลดลง เพราะต้องเฉลี่ยไปให้เรือ 2 กลุ่มนี้ ด้าน "จุมพล" โฆษก ศปมผ.ยันเรือเข้าระบบได้ ฝ่ายตรวจสอบอ้าง ไม่โอเวอร์ฟิชชิ่ง วงในเผยกำหนดการหารือแก้ไอยูยูครั้งต่อไป 17-19 พ.ค. นี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ หวั่นลามสัตว์ปีก-ท่องเที่ยว
[caption id="attachment_43241" align="aligncenter" width="700"]
วันหยุดทำการประมง ประจำปี 2559[/caption]
จาก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 กำหนดให้การทำประมงในน่านน้ำไทยจะต้องมีปริมาณสัตว์น้ำเกินกว่าค่าผลผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน(MSY) และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเรือประมงพาณิชย์ทุกลำจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์นั้น
แหล่งข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากปีการทำประมงใหม่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 – 31 มีนาคม 2561 ล่าสุดในส่วนเรือประมงพาณิชย์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีอาชญาบัตรผิดประเภท กับ เรือที่ไม่มีอาชญาบัตรเลย จำนวน 3 พันลำ ได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้สามารถยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ได้ ส่งผลให้กลุ่มเรือที่มีอาชญาบัตรหรือใบอนุญาตถูกต้องต้องนำวันทำการประมงมาเฉลี่ยให้เรือ 2 กลุ่มนี้
"ที่ผ่านมาหลายครั้งมีการประชุมว่า ค่า MSY เกินเยอะ มีแนวโน้มว่าจะลดจำนวนเรือลงอีก แต่ปรากฏว่า กรมประมงกลับให้ 2 กลุ่มนี้เข้าระบบได้ ทำให้กลุ่มที่มีอาชญาบัตรถูกต้องจากเดิมต้องหยุดทำประมงแค่เดือนละ 5-6 วัน ต้องหยุดเพิ่มเพื่อเกลี่ยวันทำประมงออกมาเป็นใบอนุญาตให้ลำอื่นถามว่าถูกต้องแล้วหรือ ที่สำคัญจะตอบคำถามของสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไร"
ทั้งนี้การบริหารวันหยุดทำการประมงใหม่ จะมีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือกลุ่มที่ 1 คือเรือที่ถูกต้องอยู่แล้วจะได้ทำการประมงปีละ 230 วัน(ในช่วง 2 ปี 2559-2561) โดยไปบริหารวันหยุดกันเอง เรือกลุ่มที่ 2 คือเรือที่มีใบอาชญาบัตรเดิม แต่ใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรแล้วได้มายื่นขออนุญาตตรงกับเครื่องมือที่ใช้อยู่ก็จะได้ทำการประมงปีละ 215 วันโดยไปบริหารวันหยุดกันเอง และเรือกลุ่มที่ 3 คือเรือที่เดิมไม่เคยมีอาชญาบัตรแต่ได้มาขอใบอนุญาตก็จะได้ทำการประมงปีละ 200 วัน โดยไปบริหารวันหยุดกันเอง (ดูตารางประกอบ)
ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณาประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การกำหนดวันทำการประมงคำนวณค่าการจับสัตว์นํ้าสูงสุด(MSY)ดำเนินการโดยกรมประมงที่จะใช้กับเรือประมงพาณิชย์ ตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปส่วนเรือประมงที่ตํ่ากว่า 30 ตันกรอสลงมา ทางกรมประมงกำลังศึกษาเพื่อให้มีความชัดเจนกับกลุ่มนี้ด้วย
"ปัญหาที่กระทบกับผู้ประกอบการมากที่สุดคือ การจ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เฉลี่ย 5.6 พันบาทต่อคน บังคับให้ชำระล่วงหน้า 2 ปี ยิ่งเรือขนาดใหญ่ ลำหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30 คน จะทำอย่างไร แล้วมีอะไรบ้างมาประกันความเสี่ยงว่าแรงงานเหล่านี้จะอยู่ครบถึง 2 ปี"
สอดคล้องกับ พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ให้เรือ 2 กลุ่มนี้สามารถออกไปทำการประมงได้ มองว่าดี เพราะได้ลดผลกระทบปัญหาความเดือดร้อนได้ของชาวประมง และที่สำคัญค่า MSY ไม่เกิน เพราะมีผลการศึกษารับรองจากคณะทำงาน และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแล้ว
ขณะที่แหล่งข่าวจาก ศปมผ. เผยถึงกำหนดการหารือกับสหภาพยุโรป (อียู) เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2559 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยจะหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายในวันที่ 17 พฤษภาคม และปัญหาแรงงานทั้งระบบในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2559 อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ทางอียูได้แจ้งมาว่านักการเมืองในสภายุโรปมองว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคการประมงเท่านั้น แต่กลับได้ลามไปสู่ภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย เชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจที่จะให้เวลากับไทยในการแก้ปัญหาต่อไปอีกหรือไม่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559