ส่งออกไทยปี 68 ลุ้นโต 3% เทรดวอร์-ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ตัวแปรยากคาดเดา

24 ธ.ค. 2567 | 21:29 น.

ปี 2567 ที่จะผ่านพ้นไป กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้นำเอกชนคาดการส่งออกของไทย เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 4-5% สูงกว่าที่ทุกสำนักพยากรณ์ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-2.9%

ล่าสุดวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อประเมินทิศทางสถานการณ์การส่งออกปี 2568 โดยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะขยายตัวได้ที่ 2-3% มูลค่า 305,000-308,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10.38-10.48 ล้านล้านบาท

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ในมุมมองของผู้ส่งออกตัวจริง จะเป็นอย่างไรนั้น นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงตัวแปรสำคัญ ไว้อย่างน่าสนใจ

เปิดปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรก

นายชัยชาญ กล่าวว่า ปี 2568 ในส่วนของ สรท. คาดการณ์ในเบื้องต้นการส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวได้ 1-3% เนื่องจากมองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ขณะที่ปัจจัยบวกแทบไม่มี โดยปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกคือ

1.ผลกระทบจากสงครามการค้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% และภาษีสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐอีก 10-20% ซึ่งยังยากที่จะคาดเดาว่าเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาจริงแล้วจะขึ้นภาษีเท่าไร แต่จะส่งผลทำให้การค้าโลกปั่นป่วนแน่

2.ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จากที่ยังมีสงครามในหลายคู่ของโลก และยังมีความเสี่ยงขยายวง ยืดเยื้อ หรือทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก

3.ค่าเงินบาทที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยยังมีความผันผวน

“กระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนรวมถึง สรท.คาดการส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ 2-3% แต่ในส่วนของ สรท.เอง เราคาดส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ 1-3% ซึ่งถ่างช่องห่างไว้มากกว่า เพราะเรามองว่าปี 2568 มีความไม่แน่นอนสูงมาก และคาดเดาได้ยาก เฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ปัจจัยแรกที่กล่าวข้างต้น ขณะที่การแข่งขันส่งออกกับต่างประเทศจะรุนแรงขึ้น จึงต้องถ่างการคาดการณ์ส่งออกห่างกันถึง 1 ถึง 3% เป็นครั้งแรก”

ความเสี่ยงถูกสหรัฐตอบโต้อยู่ท้าย ๆ

อย่างไรก็ดีจากที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าไทยมีความเสี่ยงจะถูกกีดกันหรือถูกตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐในยุค “ทรัมป์ 2.0” จากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐมาก (ไทยอยู่อันดับ 12 ที่เกินดุลการค้าสหรัฐ) ในเรื่องนี้ไม่มีความกังวลมาก เพราะเทียบกับหลายประเทศแล้วยังเกินดุลการค้าสหรัฐมากกว่าไทย เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ที่ส่งออกไปสหรัฐมากกว่า และเกินดุลการค้าสหรัฐมากกว่าไทย

“ส่วนตัวยังมองว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 การส่งออกของไทยไปสหรัฐจะยังไปได้ และยังมองว่าจะเป็นโอกาสในวิกฤตของไทยในตลาดสหรัฐ ซึ่งวิเคราะห์แล้วถ้าเขาจะตอบโต้ทางการค้า คงจะตอบโต้ประเทศอื่นก่อน ไทยไม่ใช่อยู่อันดับต้น ๆ และอีกอย่างไทยกับสหรัฐก็มีความสัมพันธ์ที่ดี ในช่วงทรัมป์ 1.0 ตัวเลขก็เห็นได้ชัดว่าเราได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนในยกแรก โดยไทยส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้นสองเท่า”

ขณะเดียวกันการลงทุนของต่างชาติในไทย หรือ FDI ที่ย้ายฐานหรือขยายการลงทุนมายังไทยในเวลานี้ไม่ใช่มีจีนประเทศเดียว ยังมีการลงทุนของสหรัฐในไทย รวมถึงจากประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการลงทุนของสหรัฐในไทย มีกลุ่มสำคัญคือ อิเล็กทรอนิกส์ พวกแผงวงจรรวม เซมิคอนดักเตอร์ และอื่น ๆ และมีการส่งออกสินค้าจากฐานผลิตในไทยกลับไปยังสหรัฐ รวมถึงไปยังห่วงโซ่การผลิต หรือซัพพลายเชนของสหรัฐในเวียดนาม หรือในประเทศอื่น ๆ โดยสรุปการส่งออกของไทยไปสหรัฐในปี 2568 มองว่ายังไม่น่าห่วงมาก

แนะผู้ส่งออก-รัฐเพิ่มขีดแข่งขัน

อย่างไรก็ดี สรท.มีข้อเสนอแนะผู้ส่งออกในการป้องกันความเสี่ยง และลดต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในปี 2568 ที่สำคัญคือ เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้ตํ่าที่สุด มีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การติดตามสถานการณ์ของโลกเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้า และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างทันสถานการณ์ และเร่งปรับตัวรับกฎระเบียบใหม่ ๆ ของการค้าโลกในการลดโลกร้อนที่ยังดำเนินต่อไป

ส่วนภาครัฐต้องมีจุดยืนที่มีความเป็นกลาง และรักษาสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ โดยมุ่งเน้นไทยเป็นชาติการค้า (Trading Nation) เร่งเจรจากรอบการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในประทศคู่ค้า เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่เป็นประตูการค้าสู่ตะวันออกกลาง เป็นต้น

นอกจากนี้ในความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ (อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 50% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยสินค้าส่งออกในปี 2568 ที่มองว่าจะยังขยายตัวได้ดี อยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และในกลุ่มสินค้าอาหาร

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,056 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567