นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นได้ออกถ้อยแถลงร่วม “ข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยถ้อยแถลงดังกล่าวมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น และรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 2. ร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 และ 3. เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ถ้อยแถลงดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง และส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยอาเซียนและญี่ปุ่นในฐานะผู้ผลิตหลักของห่วงโซ่อุปทานโลกจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าต่าง ๆ ส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมถึงไม่สร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ตลอดจนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม(SMEs)และรายย่อย (MSMEs) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอื้อให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ปัจจุบันอาเซียนและญี่ปุ่นมีกลไกความร่วมมือต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AMEICC) สภาธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJBC) สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ศูนย์อาเซียน- ญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวบรรลุผล รวมทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน ค.ศ. 2025 (MPAC 2025) ที่ครอบคลุมการเชื่อมโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
ทั้งสองฝ่ายยังมีความตกลงหุ้นทางส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน โดยในปี 2562 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มูลค่า 214,043 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกจากอาเซียนไปญี่ปุ่น มูลค่า 107,842 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเตียง อัญมณีและโลหะมีค่า เป็นต้น และอาเซียนนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 106,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น