กยท.อนุมัติสินเชื่อชะลอขายยางพารา

25 เม.ย. 2563 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2563 | 12:26 น.

“ประพันธ์”จับมือ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ อัดงบกว่า 5 พันล้าน ชะลอขายยาง 2.4  แสนตัน พ่วงหลายมาตรการ หวังดันราคาพุ่งสวนกระแสโควิด

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ประเทศผู้บริโภคยางพาราหยุดการบริโภคและนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยจึงได้ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความลำบากในการดำรงชีวิตจากราคายางที่ตกต่ำ รวมทั้งไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ กยท.มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยให้เกษตรกรผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้จึงมีมาตรการต่างๆเพื่อลดผลกระทบที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

กยท.อนุมัติสินเชื่อชะลอขายยางพารา

นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมบอร์ดได้อนุมัติ 3 โครงการเพิ่มเติม คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายยาง จำนวน 2.4 แสนตัน ก็คือ ในกรณีที่เกษตรกรมียางก้อนถ้วย หรือยางแผ่นดิบ ไม่ประสงค์จะขายยางในช่วงนี้ก็สามารถนำยางนี้ไปฝากไว้ที่สถาบันเกษตรกร แล้วสถาบันเกษตรกรก็แจ้งปริมาณและจำนวนยางมาที่ กยท.

เมื่อ กยท. อนุมัติ แล้วก็จะให้ ธ.ก.ส.โอนค่ายาง 80% ของราคาตลาดกลางยางพารา โดยอ้างอิงราคา 15 วันย้อนหลัง  หรือในกรณีที่เกษตรกรมาไถ่ถอนยางนำยางไปขายเมื่อขายได้แล้วก็ให้โอนตรงสั่งจ่ายผ่าน ธ.ก.ส.ได้ทันที เพราะมีบัญชีของกันและกันอยู่แล้ว คาดว่างบประมาณที่ใช้ 5,960 ล้านบาท จะต้องใช้เวลานิดหนึ่งกับโครงการนี้จะต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลำดับถัดไป

กยท.อนุมัติสินเชื่อชะลอขายยางพารา

2.โครงการรับซื้อน้ำยางสดที่จะซื้อตรงจากเกษตรกรแล้วจ้างสถาบันเกษตรกร หรือโรงงานรายย่อยที่มีกำลังผลิตหมอนยางพารา โดย กยท.จะเป็นคนรับหมอนยางไปขาย เนื่องจากเป็นคนรับซื้อน้ำยาง แล้วจ้างผลิต เรียกว่าเป็นโออีเอ็ม

3.โครงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง ที่มีกำลังผลิตเหลือไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้เพราะขาดเงินในการซื้อวัตถุดิบ แต่หากมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จะต้องอยู่ในลิสต์รายชื่อลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติจาก กยท.ก่อนเพราะ กยท.มีความเสี่ยง แต่ถ้าเป็นลูกค้า อาทิ ยางล้อโอตานิ หรือ มิชลิน เป็นต้น ก็ไม่มีปัญหา กยท.จะให้เงินสถาบันไปซื้อวัตถุดิบได้เลยเพียงแต่นำออร์เดอร์มายืนยันกับ กยท. เท่านั้น เมื่อทางลูกค้าจ่ายเงินมา ก็นำส่วนนั้นมาชำระคืน กยท. จะใช้เงินมาตรา 49(3)

กยท.อนุมัติสินเชื่อชะลอขายยางพารา

“ใน 2 โครงการหลัง ทั้งผลิตหมอนยางพารากับเสริมสภาพคล่องสถาบัน กยท.สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที เนื่องจากในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งทุกคนเดือดร้อนไปหมด ดังนั้นถ้าชาวสวนไหนมียางแผ่นดิบ หรือน้ำยางก้อนถ้วย แล้วคิดว่าราคายางในช่วงนี้ไม่ดี แต่ต้องการใช้เงินก็สามารถนำยางพาราไปฝากไว้ที่สถาบันเกษตรกร แล้วรับเงินจาก ธ.ก.ส. ส่วนผู้ที่รับผิดชอบก็คือ กยท. โดยจะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.นำมาจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ส่วนพวกที่ผลิตน้ำยางข้นจะไปซื้อจากสถาบันเพื่อผลิตหมอนยาง”

กยท.อนุมัติสินเชื่อชะลอขายยางพารา

นายประพันธ์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมานี้ก็เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยการใช้มาตรการทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อลดผลกระทบที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร และเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการอนุมัติไปเรียบร้อยแล้วทั้งโครงการใหม่และโครงการเก่าที่ขยายเวลาเพิ่ม

และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2  มีมติเห็นชอบ ขยายวงเงินจาก 34,938 ล้านบาท 42,000 ล้านบาท ได้ขึ้นทะเบียน(บัตรสีเขียว)และแจ้งข้อมูล(บัตรสีชมพู) ก่อนวันที่ 1 พ.ค.2563 เหลือเวลาอีกไม่กี่วันขอพี่น้องชาวสวนยางที่ตกค้าง(ซึ่งมีไม่มากแล้ว) ไปขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ภายใน 30 เม.ย.2563