“การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง ปั้นไทยสมายล์สู้ศึก

04 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

เปิดแผนฟื้นฟู “การบินไทย” เร่งกู้เงิน 5.4 หมื่นล้านก้อนแรกพ.ค.นี้ ก่อนเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ยก THAI ขึ้นเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี แยก 4 บิสิเนส เป็นบริษัทลูก

แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) THAI ระยะสั้นและระยะยาวที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา และเตรียมเสนอครม.ต่อไปนั้น 

"การบินไทย" กู้งวดแรกพ.ค.นี้

นอกจากแผนระยะเร่งด่วน ที่กระทรวงการคลังจะคํ้าประเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยประคองตัวได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม2563แล้ว

แผนระยะสองที่กำลังจะตามมา คือแผนการฟื้นฟูการบินไทยเต็มรูปแบบ ซึ่งจุดสำคัญ คือ แผนการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง และเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าก่อนเพิ่มทุนใหม่จะต้องมีการลดทุน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหรือไม่

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แผนการกู้เงินวงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงการคลังจะคํ้าประกันเงินกู้ให้นั้น การบินไทยจะทยอยกู้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) เป็นงวดๆ โดยเงินจะเข้าสู่บริษัทได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ อีกทั้งการบินไทยจะไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งในปี 2563 การบินไทยมีแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 1.02 หมื่นล้านบาท

“การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง ปั้นไทยสมายล์สู้ศึก

เตรียมเพิ่มทุน8 หมื่นล้าน

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ เรื่องการฟื้นฟูการบินไทย ให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอย่างเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต ได้แก่ แผนการเพิ่มทุนการบินไทย 8 หมื่นล้านบาท ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป โดยส่วนหนึ่งนำมาใช้หนี้เดิม5.4 หมื่นล้านบาทที่กู้ไป และอื่นๆ อีกราว 2-3 หมื่นล้านบาทนำมาใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป

การเพิ่มทุนจะทำให้การบินไทยมีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยมีทุนจดทะเบียนตํ่าหากเทียบกับสายการบินในระดับเดียวกัน ซึ่งภายใต้สัดส่วนปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(ASK)ต่อทุนที่มากกว่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การบินไทย ต้องใช้เครื่องมือ คือ เงินกู้ ในการขยายงาน

อย่างไรก็ตามในการเพิ่มทุนการบินไทยนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการลดทุนก่อนหรือไม่ เพราะตามหลักการแล้วก่อนที่จะมีการเพิ่มทุนใหม่ ควรจะมีการลดทุนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน แต่ก็มีข้อกังวลว่าหากมีการลดทุนจะทำให้กระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เสียหาย

นอกจากนี้ยังมีแผนปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของการบินไทยจาก 51.03% ลงเหลือ 49% โดยกระทรวงการคลังจะขายหุ้นออกไปราว 2% ให้กับกองทุนรวม วายุภักษ์ และให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังสั่งได้เข้ามาซื้อหุ้น เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น

แยกBUตั้งบริษัทลูก

ขณะเดียวกันก็จะปรับโครงสร้างองค์กรการบินไทยครั้งใหญ่ ที่ฝ่ายบริหารการบินไทยจะต้องไปทำแอคชั่นแพลนมา โดยจะมีการแยกบิสิเนส ยูนิต(BU)ต่างๆ ออกมาเป็นบริษัทลูก ภายใต้การถือหุ้นของบมจ.การบินไทย ที่จะปรับสถานะป็นบริษัทโฮลดิ้ง

สำหรับ 4 ธุรกิจที่จะแยกออกมาเป็นบริษัทลูก ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ครัวการบิน,บริการภาคพื้น,คลังสินค้า (คาร์โก้), การ ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือฝ่ายช่าง ซึ่งบริษัทลูกรายใดแข็งแกร่ง และพอไปได้ดีก็จะให้รัฐวิสาหกิจ อื่นๆ หรือพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น

เช่นบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ที่แม้จะไม่ได้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย แต่ก็อาจมาร่วมทุนในบริษัทด้านคลังสินค้าของการบินไทยได้ เพราะทอท.ก็มีแผนพัฒนาธุรกิจคาร์โก้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่แล้ว และ เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้ดี

“การแยกแต่ละหน่วยธุรกิจออกมาตั้งบริษัทลูก นอกจากจะทำให้เกิดคล่องตัวแล้วยังทำให้วัดผลการดำเนินงาน จากการทำกำไรของแต่ละหน่วยธุรกิจ แต่ปัญหาก่อนที่จะมีการแยก คือ ต้องหาต้นทุนในการ ดำเนินธุรกิจเมื่อเทียบกับอัตราการทำกำไรของแต่ละยูนิตให้ได้ก่อนว่ามีจำนวนเท่าใดเพราะหากแยกออกไปแล้วต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าอัตราการทำกำไรก็จะมีปัญหาตามมาในอนาคต”

สำหรับสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่การบินไทย ถือหุ้นอยู่แล้ว 100% ก็จะถูกเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยจะเข้ามาเป็นบริษัทหลักที่ดำเนินธุรกิจการบิน โดยรับธุรกิจของการบินไทยไปดำเนินการแทน ภายใต้แบรนด์เดียวซึ่งไทยสมายล์ ไม่อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานรัฐวิสาหกิจและพรบ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

หลังการแยกบิสิเนสยูนิตต่างๆมาเป็นบริษัทลูก พนักงานก็ต้องทยอยไปสังกัดบริษัทใหม่ ซึ่งในเรื่องของบุคคลากร ก็จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาถ้าตำแหน่งไหนซํ้าซ้อน ก็จะต้องมีการลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งก็ยึดตามกฏหมายแรงงาน ส่วนพนักงานที่พึงพอใจที่จะลาออก ทางบริษัทก็จะเปิดโครงการสมัครใจให้ลาออก ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีการลดจำนวนพนักงานลง 30% จากปัจจุบันที่การบินไทยมีพนักงานทั้งหมดราว 2.1 หมื่นคน

"การผ่าตัดองค์กรที่เกิดขึ้น แม้ในขณะนี้พนักงานอาจจะรู้สึกหวาดหวั่น แต่ถ้าไม่ทำอะไรการบินไทยก็จะไปต่อไม่ได้ แต่เมื่อทำตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ การบินไทยจะแข็งแรงกว่าเดิมหลายเท่า”

“การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง ปั้นไทยสมายล์สู้ศึก

ลดฝูงบินเหลือ64ลำ

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้โดยสารเปลี่ยนไป และกว่าจะฟื้นตัวกลับเป็นปกติต้องใช้เวลาร่วม 2ปี การบินไทยมีโอกาสที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆและดาวน์ไซด์ธุรกิจลง ก่อนจะเริ่มกลับมาเติบโตใหม่ต่อไป

ตามแผนการบินไทยจะได้ศึกษาแล้วว่าจะปรับลดเครือข่ายเส้นทางบินทั่วโลกลง รวมกว่า 20 จุดบิน ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ จุดบินในเอเชียแปซิฟิค ยกเลิก 17 เมือง ทำให้จุดบินปรับลดลงเหลือ 31 เมือง จากเดิม 48 เมือง

โดยจุดบินที่ยกเลิก เช่น บริสเบน, เพิร์ท ออสเตรเลีย, โอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์, พนมเปญ, ย่างกุ้ง, โฮจิมินท์,ฮานอย, คุนหมิง,เซียะเหมิน, ปีนัง ,โคลัมโบ ศรีลังกา เป็นต้น ส่วนยุโรปจะยกเลิก 3 เมือง คือ มิลาน ,โรม และกรุง มอสโคทำให้จุดบินปรับลดลงเหลือ 10 จุดบิน จากเดิม 13 จุดบิน

“การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง ปั้นไทยสมายล์สู้ศึก

การยกเลิกจุดบินต่างๆจะทำให้การบินไทยลดจำนวนเครื่องบินลงเหลือ 64 ลำ จากปัจจุบัน 82 ลำ ซึ่งจะต้องขายเครื่องบินออกจากฝูงบิน 18 ลำ ที่จะส่งผลให้เกิดการลดแบบเครื่องบินลงตามไปด้วย รวมไปถึงแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก็ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน 

อีกทั้งในการกำกับดูแลองค์กรที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการบริษัท ที่จะทยอยหมดวาระทั้ง 11 คน รวมถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะต้องไปดำเนินการสรรหา บนเงื่อนไขที่ว่าควรจะต้องมีความชำนาญในอุตสาหกรรมการบิน และต้องมีการประเมินการทำงานว่าสมควรจะเป็นบอร์ดต่อไปด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการขาดทุนของการบินไทย ทั้งบอร์ดและผู้บริหารก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วยในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กร

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“คนร.” เห็นชอบแผนฝ่าวิกฤติการบินไทย

ชำแหละภาระหนี้"การบินไทย" ไขปมกู้เงิน 5 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง

การบินไทย 5 หมื่นล้านตำน้ำพริกโปรยทิ้งบนท้องฟ้าถ้าไม่ผ่าตัดใหญ่