นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยวางเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน 30% ในปี 2030 แต่ขณะนี้ระดับการปล่อยคาร์บอนยังอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงที่ทำข้อตกลงดังกล่าว ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องออกกติกามาเพื่อเป็นกลไกให้กับภาคเอกชน
สำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทย เพื่อเดินหน้าสู่ Net Zero นั้น การใช้คาร์บอนเครดิตจะเข้ามาสร้างความยั่งยืน แน่นอนว่า ธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นทางรอดให้กับองค์กร
“ขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ปรับกระบวนการผลิต และมีเป้าหมายการลดคาร์บอน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนจากการใช้ถ่านหิน หรืออื่นๆ มาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งมองว่าอนาคตโลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)”
ทั้งนี้ ปัจจุบันยุโรปได้เริ่มใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (C-BAM) แล้ว ซึ่งจะเป็นต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ส่งออกไปยังยุโรป ซึ่งจะต้องปรับสู่คาร์บอน
นายพิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 330 ล้านไร่ ซึ่งตอนนี้เรามีนโยบายเชิญนักลงทุนทั้งกลุ่มเทคโนโลยี และธุรกิจสีเขียว ลดการปล่อยคาร์บอนเข้ามา ซึ่งในช่วง 7-9 เดือนของปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาทุบสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีเม็ดเงินการลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท หรือ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ไทยมีนโยบายเชื้อเชิญดาตาร์เซ็นเตอร์เข้ามา หากธุรกิจเหล่านี้เข้ามาอยู่ในประเทศในอนาคตจะเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ และจะเดินหน้าธุรกิจคลาวด์ต่อไป”
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ขณะนี้มีต่างประเทศที่เข้ามาเรียนรู้การผลิตไบโอแพคเกจจิ้ง ซึ่งก็จะสร้างมูลค่าต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ตนอยากเห็นมีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ อยากให้ที่ที่พัฒนาแล้วราคาไม่แพง พลังงานปรับเปลี่ยนสู่สีเขียว ซึ่งนโยบายเรื่องพลังงานจะต้องมีความชัดเจน และมีการพัฒนารีสกิล อัพสกิล แรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามา
นอกจากนี้ ในด้านตลาดทุนได้เตรียมแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่านดิจิทัลโทเคน และกรีนโทเคน เพื่อให้ผู้ที่เตรียมเดินหน้าสู่คาร์บอนเข้ามาเทรด ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการแลกเปลี่ยนซื้อขายเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ