การบินไทยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ TG 602 เดินทางออกจากสนามบินดอนเมืองไปฮ่องกง แต่เมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2503 ซึ่งดำเนินธุรกิจครบรอบ 60 ปีเมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2563 ซึ่งปีนี้จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การบินไทยต้องหยุดทำการบินในทุกเส้นทาง ยกเว้นเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ
ทั้งยังอยู่ระหว่างการฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่ภายใต้แผนฟื้นฟูธุรกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งระยะสั้นกระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสภาพคล่องให้ประคองธุรกิจไปได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้
ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563 โดยมีเนื้อหาดังนั้น
60ปี การบินไทย…ห้าหมื่นล้านจะพอไหม
วันนี้เป็นวันเกิดการบินไทย มีรายการโทรทัศน์ โทรมาขอสัมภาษณ์พอดี โดยมีคำถามหลักสองคำถาม ว่า ทำไมการบินไทยที่เคยรุ่งเรืองจึงตกต่ำได้ถึงเพียงนี้ กับผมมีความเห็นอย่างไรกับการที่รัฐจะตกลงค้ำประกันหนี้ให้การบินไทยห้าหมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเร่งด่วน
ข้อแรก ผมตอบไปว่า ก่อนโควิด การบินไทยก็ไปไม่รอดอยู่แล้ว ขาดทุนตั้งปีละกว่าหมื่นล้านติดต่อกันมาหลายปี ถึงไม่มีโควิด ทุนที่เหลือแค่หมื่นล้าน เทียบกับหนี้เกือบสามแสนล้าน ก็อยู่ได้ไม่เกินปีอยู่แล้ว พอมาเจอโควิดก็เลยน่าจะจอดสนิททันที เพราะขนาดสายการบินดีๆอย่างLufthansa อย่าง Air Franceรัฐบาลของเขายังต้องช่วยแห่งละกว่าแสนล้านบาท
ส่วนเหตุผลที่ตกต่ำมาจากคำว่า”การแข่งขัน” เพราะจากปี2000มีเครื่องบินพาณิชย์ทั้งโลกแค่ 20,000ลำ พอมาปัจจุบันมีเป็น46,000ลำ มีการเกิดของLow Cost Carriers ทุกคนแข่งกันปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดราคา เปิดเสรีการแข่งขันกันเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่เราเปิดเสรีการบิน ในปี 2004 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก12เป็น38ล้านคน คนบินปีละ18ล้านเที่ยว เป็น110ล้านเที่ยว
ตั๋วไม่เคยขึ้นราคามายี่สิบปี กลับลดด้วยซ้ำ แต่การบินไทยต้นทุนกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งการจัดซื้อ และต้นทุนบุคคลากรที่มีตั้ง 28,000คน(เทียบCapacityกับคนอื่นน่าจะมีแค่ 15,000) ยกตัวอย่างไตรมาสสามปีที่แล้ว ยอดขาย 40,000กว่าล้าน ขาดทุน สี่พันห้าร้อยล้าน ทั้งๆที่มีLoad Factorตั้ง80% ก็แปลได้เลยว่า จะเท่าทุนได้ต้องขายแพงขึ้น10%(ซึ่งตอนนี้ก็แพงสุดอยู่แล้ว)หรือลดต้นทุนให้ได้10% เพราะBreak-even Loadfactor 88%ไม่มีใครในโลกทำได้
ถามว่ารัฐจะค้ำห้าหมื่นล้านนั้น ผมเห็นด้วย เพราะถ้าไม่งั้นก็คงมีค่าเหลือศูนย์หรือติดลบ(ได้ยินว่าแอบมีค้ำประกันไปบ้างแล้ว) แต่ผมคิดว่าไม่ควรแค่ให้การค้ำประกันเฉยๆอย่างที่ขอ แต่รัฐควรให้กู้มากกว่าค้ำให้ เพราะสุดท้ายต้องจ่ายเหมือนกัน แต่สถานะของผู้ให้กู้กับผู้ค้ำไม่เหมือนกัน แต่ก่อนที่จะให้กู้รัฐควรจะให้การบินไทยขอเข้าแผนฟื้นฟูตามกระบวนการของกฎหมายล้มละลายก่อน
เพราะภายใต้แผน ผู้ให้กู้รายสุดท้ายสามารถมีอำนาจต่อรองสูงได้ สามารถจอHair cutเจ้าหนี้อื่นได้บ้าง สามารถล้มเลิกสิทธิประโยชน์อดีตพนักงานและต่อรองกับสหภาพได้ดีกว่า รวมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขประเภท Last in -First out(คนใส่ทีหลังได้รับคืนก่อน) หรือpreferrable statusอื่นๆได้ จะได้ผ่าตัดใหญ่ทีเดียวเลย
ซึ่งทั้งหมดนี่เป็นหลักการใหญ่นะครับ ต้องไปศึกษารายละเอียดทางการเงินและกฎหมายต่างๆอีกเยอะครับ
อายุหกสิบแล้ว ถึงเวลายกเครื่องใหญ่ ผ่าตัดใหญ่เสียที ถ้าให้แต่เงินเฉยๆก็จะยืดได้แค่ห้าเดือนก็น่าจะหมด เป็นการThrow good money after bad หรือที่คนโบราณเค้าว่า “ตำน้ำพริก โปรยทิ้งบนท้องฟ้า”เป็นแน่ครับ
HBDครับ การบินไทย