การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าของคนไทยลดลง ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้เร่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร
ผู้เลี้ยงกุ้ง ดันโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2563 ส่วนกรมปศุสัตว์ แก้ปัญหาน้ำนมดิบล้น โดยจะเพิ่มเด็กดื่มนมเป็น 365 วัน ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งความคืบหน้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 จำนวน 4.5 หมื่นตัน คาดจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 กำหนดรายละไม่เกิน 10 ตัน ซึ่งในขณะนี้ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังไม่ได้บรรจุวาระเพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาแต่อย่างใด ให้เหตุผลว่าทางรัฐบาลต้องเร่งพิจารณาเรื่องเยียวยาเกษตรกร 5000 บาทต่อเดือนกับทุกกลุ่มก่อน ซึ่งทางนายอลงกรณ์ ก็รับปากว่าในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้น่าจะมีคิวกุ้งเข้า ครม.แน่นอน ก็อยากจะฝากรัฐบาลว่าวันนี้หากครม.ยังไม่รีบตัดสินใจนำเรื่องนี้มาพิจารณาก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเพราะเกษตรกรไม่มีที่พึ่งจริงๆ
สอดคล้องกับนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ที่กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้านอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อตลาดนมพาณิชย์ด้วย เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการบริโภคผลิตภัณฑ์นมลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดชะลอตัว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำนมดิบไม่มีที่จำหน่ายและล้นตลาด
ปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องขอเพิ่มจำนวนวันเด็กดื่มนมโรงเรียน จากปกติ 260 วัน แบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษาๆ ละ 130 วัน จะเพิ่มเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จะทำให้เด็กดื่มนม 365 วัน จากจำนวนเด็กทั้งหมด 7.4 ล้านคน คาดจะใช้งบประมาณเพิ่ม 2,700 ล้านบาท จากงบปกติที่รัฐบาลจัดสรรงบอุดหนุนนมโรงเรียนให้ปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในนามชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ขอความเห็นใจจากรัฐบาล หวังที่จะให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ และเพื่อต่อสู้ให้ผ่านวิกฤติโควิดไปด้วยกัน
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563