นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการต้องหยุดกิจการชั่วคราวอย่างมาก ซึ่งหอการค้าไทยกำลังร่วมทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการเพื่อรองรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ตลอดจนช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ และผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น บนพื้นฐานความปลอดภัยทางสุขภาพของประชาชนทุกคนเป็นสำคัญ ทั้งนี้หอการค้าไทยอยากเห็นภาคธุรกิจเอกชนใช้โอกาสนี้ “เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส” ปรับตัวเพื่อไปสู่ New Normal ที่กำลังเกิดขึ้น ผ่านการพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ ๆ นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ตลอดจนมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยให้ความสำคัญและกำลังติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจของไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่าง ๆ แต่ถือว่ายังมีโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ที่มีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับในสถานการณ์วิกฤติ ดังนั้น จึงต้องมีสร้างสมองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขี้นในอนาคต
คณะกรรมการฯ ได้จัดทำโครงการความร่วมมือการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีระบบ e-Learning ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในชื่อโครงการ TCC Online Training โดยนำร่องโครงการด้วยการจัดทำบทเรียนออนไลน์ที่สำคัญต่อธุรกิจ (E-Learning Buffet Courseware) ที่ช่วยเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศได้เข้าเรียนฟรี ตั้งแต่บัดนี้ไปตลอดปี 2563 โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนและเข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์โควิด รวมทั้งการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการพัฒนาธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยของเรามีศักยภาพทางด้านธุรกิจที่สูงมากขึ้น ทั้งนี้ บทเรียนออนไลน์ดังกล่าวจะประกอบด้วยชุดวิชาต่าง ๆ อาทิ การจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) การสร้างแรงจูงใจอย่างสร้างสรรค์ (Creative Motivation) การจัดการความเสี่ยงทางการตลาด (Marketing Risk Management) เป็นต้น
“หอการค้าไทยเชื่อว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต เพียงแต่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนได้นั้น เขาเหล่านั้นต้องมีความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ เพื่อเป็นบทเรียนลัดในการเติบโต ซึ่งโครงการ TCC Online Training จะช่วยชี้แนะแนวทางสำหรับการก้าวเดินที่รวดเร็วยิ่งขึ้น” นายพลิษศร์ กล่าว
รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีเจตนารมณ์ในการพัฒนาระบบ e-learning ซึ่งเป็นการเรียนรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา เหมาะกับผู้บริหาร ผู้ประกอบการและพนักงานขององค์กร ที่ต้องการบริหารเวลาในการทำงานและการพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ อีกทั้ง ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องการความสะดวกรวดเร็ว และต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเดิม
นอกจากนั้น จะเห็นว่าการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและสื่อออนไลน์ของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ดังนั้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึง Platform Online ต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยข้อมูลลูกค้าที่ได้จากระบบออนไลน์ ยังสามารถนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ตลอดจนการทำแผนการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดความรู้ ประสบการณ์ และทักษะดังกล่าว ดังนั้น โครงการ TCC Online Training จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบออนไลน์อย่างใกล้ชิด จากอาจารย์ที่มีความรู้สูง มาถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อการเติบโตที่อย่างยั่งยืนในอนาคต อันจะส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศต่อไป
รูปแบบการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะใช้การเรียนที่เรียกว่า “Hybrid Learning” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งแบบ ONLINE และ OFFLINE แต่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเน้นที่การเรียนรู้แบบ Digital Learning เป็นหลัก โดยสามารถรองรับได้ทั้ง 3 Devices คือ PC, Tablet และ Mobile นอกจากนั้น ยังสามารถเรียนรู้ได้ 3 Patterns คือ Clip, MP3 และ E-Book เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกรูปแบบการเรียนได้ตามความถนัดของผู้เรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาด้านความคิด และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงยังช่วยสร้างคลังความรู้ (Big Data) ภายในองค์กรได้อีกด้วย