ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขเกษตรกร กรณีการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรช่วงโควิด-19 กรณีศึกษาเสียงของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,124 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.1 ระบุความจำเป็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องแจกเงินเยียวยาช่วงโควิด-19
เมื่อสอบถามถึงการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงโควิด-19 ว่าถูกใจโดนใจหรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุถูกใจโดนใจ แต่ร้อยละ 4.5 ระบุไม่ถูกใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้ากระทรวงเกษตรไม่แจกเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้จะเดือดร้อนเป็นทุกข์หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ระบุเดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ร้อยละ 8.1 ระบุไม่เดือดร้อน นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นที่พึ่งได้ของเกษตรกร ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ระบุพึ่งไม่ได้ เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ผลักดันให้เกิดการแจกเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.1 ระบุรู้ แต่ร้อยละ 8.9 ไม่รู้
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ การใช้เงินของเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเยียวยาช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 จะใช้จ่ายค่าครองชีพ ของกิน ของใช้ประจำวัน รองลงมาคือร้อยละ 47.4 จะต่อยอดทำมาหากิน เช่น จ่ายค่าเช่าที่ทำกิน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อพันธุ์ปลา ซื้ออุปกรณ์จับปลา เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ร้อยละ 20.9 ระบุจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน ร้อยละ 14.1 ระบุจะเป็นค่ารักษาดูแลสุขภาพ ร้อยละ 13.4 ระบุจะเป็นการใช้หนี้ในระบบ ร้อยละ 11.8 ระบุจะเป็นการใช้หนี้นอกระบบ ร้อยละ 10.9 จะทำบุญบำรุงพระศาสนา และร้อยละ 19.6 ระบุอื่น ๆ เช่น ค่ารถ ค่าไฟฟ้า ค่ามือถือ ค่าน้ำ เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 มีความสุขจากเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงโควิด-19 ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ไม่มีความสุข
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า เกษตรกรกำลังมีความสุข กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจกเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 ทำให้เกษตรกรนำไปใช้จ่ายค่าครองชีพในชีวิตประจำวันและการต่อยอดทำมาหากินได้ แต่ถ้ารัฐบาลเร่งออกมาตรการ “ฟรีสร้างอาชีพ” เชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับของฟรีจากศูนย์รวมชุมชนต่าง ๆ ไปประกอบสัมมาอาชีพไม่เป็นพิษต่อสังคมและตนเองได้ เช่น ฟรีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ฟรีอินเตอร์เนตไฮสปีด ฟรีช่องทางการตลาด ฟรีความรู้และฝึกทักษะอาชีพชั้นสูง ฟรีพลังงานแสงอาทิตย์ ฟรีน้ำบาดาลแก้ภัยแล้ง และอื่น ๆ น่าจะทำให้ฝ่ายการเมืองชนะใจประชาชนทุกกลุ่มอาชีพได้ไม่ยากนัก