ซีอีโอใหม่ “รี้ด เทรดเด็กซ์” ความท้าทายเอ็กซิบิชันในวิกฤติโควิด

30 พ.ค. 2563 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2563 | 12:30 น.

ธุรกิจการจัดแสดงสินค้า เป็นกิจการที่อยู่ในโซนสีแดง ที่ถูกห้ามจัดงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่รัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์ การฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้น เอ็กซิเตอร์รายใหญ่ของไทย อย่าง “รี้ด เทรดเด็กซ์” จะปรับตัวอย่างไร ภายใต้การนำทัพของซีอีโอคนใหม่

แม้ซีอีโอ “วราภรณ์ ธรรมจรีย์” จะเพิ่งก้าวมาบริหาร รี้ด เทรดเด็กซ์ ได้เพียง 3 เดือนนับจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็นำทัพขับเคลื่อนธุรกิจของ รี้ดฯได้ทันที จากประสบการณ์โปรไฟล์ในการบริหารระดับริจินัลมาแล้วในหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น คิมเบอร์ลี่คล๊าค, IDP Education บริษัทระดับโลกด้านการศึกษาต่อต่างประเทศ

“นอกจากธุรกิจด้านคอนซูเมอร์แล้ว ตอนทำงานที่ IDP Education ก็มีส่วนของการจัดงานด้านการศึกษา ที่เป็นการแมตช์ให้นักศึกษา ได้เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งแม้จะต่างธุรกิจกัน แต่ก็มีลักษณะของการจัดงานเช่นกัน และจากประสบการณ์ของการนำทีม และสร้างทีมทำงาน ก็ทำให้การเซตอัพ แผน และนำทักษะต่างๆ มาใช้กับการนำทัพองค์กรใหม่นี้ได้ทันที” นางวราภรณ์ กล่าว

ซีอีโอใหม่  “รี้ด เทรดเด็กซ์” ความท้าทายเอ็กซิบิชันในวิกฤติโควิด

ทั้งการเข้ามาบริหารงานของเธอ ก็มีการรับน้องใหม่ ด้วยสถานการณ์ โควิด-19 แต่เธอมองว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส และรี้ด เทรดเด็กซ์ ต้องปรับตัว และมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวิกฤตนี้เช่นนี้

วันนี้ โควิด-19 จะส่งผลให้ภาพรวม การจัดงานแสดงสินค้าของไทย ได้รับผลกระทบ เฉพาะงานแสดงสินค้าที่สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ(ทีเส็บ) จะถูกเลื่อนและยกเลิกงานออกไป ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้กว่า 3.4 พันล้านบาท จากการใช้จ่ายของผู้ร่วมงานต่างชาติกว่า 4.6 หมื่นคน

เลื่อนจัดงานไปปลายปี

จากแนวโน้มในภาพรวมของธุรกิจงานแสดงสินค้าที่เกิดขึ้น รี้ด เทรดเด็กซ์ เองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยรี้ดฯได้เลื่อนการจัดงานออกไปเช่นกัน โดยงานเดิมจะจัดช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ มีเลื่อนออกไปจัดปลายปี เช่น งานอินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ 2020 (งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและบรรจุภัณฑ์) และเนปคอน ไทยแลนด์ (งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการประกอบ การวัดฯเพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์) เลื่อนไปจัดวันที่ 14-17 ธ.ค.นี้

โดยทั้ง 2 งานนี้ เรามองว่าน่าจะตอบสนองความต้องการของ 2 อุตสาหกรรมหลักในไทยที่กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากหลังโควิด และบางงานก็เลื่อนไปเป็นปีหน้าแทน เช่น งานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป เลื่อนไปจัดวันที่ 23-26 มิ.ย.ปีหน้าแทน และงานจีเอฟที เลื่อนไปเป็นวันที่ 7-10 ก.ค.ปีหน้า

ส่วนงานที่จะจัดช่วงส.ค.-พ.ย.ปีนี้ เรามองว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และรัฐบาลน่าจะเริ่มคลายล็อกให้จัดงานแสดงสินค้าได้ เราก็ยังจะจัดงานตามแผนอยู่ คือ งานไทล็อก-โลจิสติกส์ ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 26-28 ส.ค.นี้, งาน คอสเม็กซ์ งานสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย วันที่ 3-5 พ.ย.นี้เช่นกัน และ งานเมทัลเล็กซ์ 2020 วันที่ 18-21 พ.ย.นี้

วราภรณ์ ธรรมจรีย์ 

“เดิมปีนี้เราตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 10% จากปีก่อน แต่เมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด ก็คาดว่าธุรกิจน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปีก่อน หรือ หย่อนลงไปนิดหน่อย เนื่องจากเอ็กซิบิเตอร์ต่างชาติรายบางก็อาจจะยกเลิกด้วยเหตุผลทางการเงินหรือไม่อยากเดินทางมาในช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดเอ็กซิบิชัน ก็จะเป็นตัวเร่งที่จะทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้โดยเร็ว ธุรกิจก็ยังไปได้ต่อ”

พัฒนา 2 โชว์ใหม่ปีหน้า

รวมทั้ง รี้ด เทรดเด็กซ์ ยังเห็นโอกาสในการจัดโชว์ใหม่ในปีหน้าอีก 2 งาน คือ ‘FACTECH 2021’ (เกี่ยวกับการจัดการโรงงาน) วันที่ 23-26 มิ.ย. 2564 และงาน Thai Corrugated & Thai Folding Carton 2021 วันที่ 28 - 30 ก.ค. 64 เพราะเห็นแนวโน้มหลังโควิด ซึ่งเห็นชัดเจนงานกระดาษลูกฟูก งานบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์ จะมาแรง เราจึงพัฒนาการจัดงานแสดงสินค้าใหม่ๆ เพื่อมารองรับ   แต่บางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์จะได้รับผลกระทบ ซึ่ง   รี้ดฯต้องไปพัฒนางานที่จัดอยู่ เพื่อให้ตอบโจทย์เพื่อช่วยธุรกิจเหล่านี้ให้ฟื้นตัวโดยเร็ว

นอกจากนี้อีกหนึ่งข้อดีของโควิด คือ เป็นตัวเร่งให้คนเปิดรับดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในฐานะที่ รี้ด เทรดเด็กซ์ เป็นตัวกลาง ในการติดต่อกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ทำให้เราใช้ดิจิทัลมาเซอร์วิสในการทำธุรกิจและสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ “ ไฮบริด เอ็กซิบิชัน 365 วัน” ที่จะเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการร่วมงาน

เช่น การใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เน้นความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การให้บริการแบบ Personalized Exhibition Experience รวมถึงการพัฒนา AI เพื่อใช้ในการจับคู่เจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ร่วมงาน จะทำให้ความเข้มข้นด้านโอกาสทางธุรกิจและ ROI ของผู้ร่วมงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการสัมมนาเพื่อให้ความรู้

รวมทั้ง รี้ด เทรดเด็กซ์ เองก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในการลองจัดเวอร์ชัน เอ็กซิบิชัน ที่อาจจะนำร่องในปลายปีนี้ ที่อาจจะดึงงานบางตัว เช่นงานด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มาลองจัดดู เพราะถ้าเป็นงานที่เป็นแสดงเครื่องจักรคงไม่เหมาะ ซึ่งในวิกฤติโควิด เราก็ยังเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจนี้ได้

สัมภาษณ์ : ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563