เร่ง“อัญมณี”หลักประกันกู้แบงก์ ต่อลมหายใจหมื่นรายสู้โควิด

27 พ.ค. 2563 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2563 | 12:33 น.

ครั้งแรกในไทย ดัน “อัญมณี” เป็นหลักประกันธุรกิจยื่นกู้แบงก์ เพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอีหมื่นรายสู้วิกฤติโควิด GIT เร่งสรุปหลักเกณฑ์ปิดข้อกังวลให้สถาบันการเงินสิ้นเดือนนี้

 

อัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ในปีที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันส่งผลกระทบอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกได้ลดลง และเริ่มขาดสภาพคล่องต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ

 

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในระดับการผลิต การจำหน่าย และการส่งออก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ สถาบันฯได้ร่วมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เพื่อให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ 

 

ที่สำคัญคือการผลักดันการนำอัญมณีและเครื่องประดับมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพราะเดิมแม้ว่าอัญมณีและเครื่องประดับจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง แต่ที่ผ่านมา สถาบันการเงินไม่นิยมที่จะรับมาพิจารณามาใช้เป็นหลักประกันปล่อยสินเชื่อ จากกังวลในเรื่องราคาที่อาจผันผวน ต่างจากทองคำที่ได้รับความนิยมมากกว่า 

เร่ง“อัญมณี”หลักประกันกู้แบงก์  ต่อลมหายใจหมื่นรายสู้โควิด

ล่าสุดได้มีการหารือกับผู้ประกอบการเพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะเสนอหลักเกณฑ์ไปให้สมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินแต่ละแห่งประกอบการพิจารณา ซึ่งสิ่งที่สถาบันการเงินมีความกังวล คือ ความสามารถในการใช้เงินคืนของผู้ประกอบการหรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ พลอยหรืออัญมณีที่นำมาค้ำประกันสถาบันการเงินจะนำไปขายต่ออย่างไร ที่ไหน รวมถึงการตั้งราคากลางของอัญมณีที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ส่วนข้อกังวลของผู้ประกอบการคือ สถาบันการเงินจะให้วงเงินในการกู้เท่าไร เพราะถ้าน้อยมากก็จะไม่จูงใจ รวมถึงระยะเวลาในการอนุมัติ อย่างไรก็ตามคาดวงเงินที่สถาบันการเงินจะใช้ในการปล่อยกู้น่าจะอยู่ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท แต่จะมากกว่านี้หรือไม่ขึ้นกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะพิจารณา 

 

“การใช้พลอยหรืออัญมณีมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจถือว่าเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับการใช้ต้นไม้ที่มีมูลค่าเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพียงแต่อัญมณีไม่มีราคากลาง ดังนั้นสถาบันจะเป็นตัวกลางในการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางขึ้นมา และคาดจะเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเสนอมาเพื่อปิดจุดข้อกังวลของสถาบันการเงินให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้”

 "ฐานเศรษฐกิจ"สอบถามผู้ประกอบการอัญมณีพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำอัญมณีมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพราะขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มขาดสภาพคล่อง จากนักท่องที่ยวที่ยังไม่กลับมา ประกอบกับยังส่งออกไม่ได้ ดังนั้นหากมีโครงการน่าจะช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการได้

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563