ตลอด 30 ปี “แทค ฮอยเออร์” ถือเป็นเรือธงสำคัญที่สร้างให้ “ทีเอสแอล อินเตอร์เนชั่นแนล” ก้าวสู่ผู้นำเข้าและทำตลาดนาฬิการะดับแนวหน้าของเมืองไทย แต่วันนี้เมื่อสองพาร์ทเนอร์ต้องแยกทางกัน ย่อมส่งผลกระทบไม่น้อย ขณะที่ตลาดนาฬิกานำเข้าก้าวเข้าสู่ช่วงปรับตัวอย่างหนัก จากวิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 เมืองไทย ทำให้ “ทีเอสแอลฯ” ต้องรุกขึ้นมาปรับแผนการทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบ
นายศาศวัต ตัณมานะศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอสแอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาจากต่างประเทศ ได้แก่ บอมเบิร์ก (Bomberg),เอโพส (Epos),เฟนดิ ( Fendi) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงานด้วยการมองหาแบรนด์ใหม่ที่มีศักยภาพที่ดีกว่า มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีความเป็นลักชัวรี่แบรนด์เข้ามาทำตลาดแทน ทำให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จึงได้ 3 แบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดทั้งทิวดอร์ (Tudor) ,คาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ (Carl F.Buchere) และซาร์การ์ (SARCAR) เพื่อเสริมแกร่งและสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตสินค้าของบริษัท
หลังจากบริษัทแยกทางกับแบรนด์ แทค ฮอยเออร์แบรนด์นาฬิกาหรูจากสวิตเซอร์แลนด์ที่บริษัททำตลาดมากว่า 30 ปี และถือเป็นสินค้าเรือธงของบริษัทมานาน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเนื่องจากทิศทางการดำเนินงานของแบรนด์และบริษัท บวกการบริหารจัดการใหม่ของบริษัทแม่ที่ มีความเห็นไม่ลงตัวทำให้ไม่มีการต่อสัญญาการนำเข้าและทำตลาดต่อไป
“กำลังซื้อตลาดบนเมืองไทยยังมี แต่จะใช้เมื่อไรเท่านั้นเอง เนื่องจากขณะที่กลุ่มลูกค้าระดับบนไม่สามารถออกนอกประเทศไปช้อปปิ้ง ท่องเที่ยวได้ ทำให้กำลังซื้อกลุ่มนี้ยังคงอยู่ภายในประเทศและพร้อมจับจ่าย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาดของไวรัสที่ประเมินได้ยากจนกว่าจะมีวัคซีนออกมา”
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้จะเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนมองว่าไม่สุ่มเสี่ยงต่อการนำเข้าหรือทำธุรกิจใหม่ๆ แต่โดยส่วนตัวมองว่ายังถือเป็นโอกาสและความโชคดีในวิกฤติ เนื่องจากบริษัทมีเวลาในการเตรียมการพอสมควรในเรื่องแผนงาน การเจรจา รวมไปถึงการใช้เวลาในการจัดเตรียมการเปิดช้อป ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาหยุดชะงักเพื่อตกแต่งสาขาและหน้าร้านในขณะที่แบรนด์อื่นๆมีการทำตลาดกัน ถือเป็นการทำให้บริษัทเดินหน้าทำตลาดทันกับแบรนด์อื่นที่มีการเปิดตัวมาก่อนหน้า
สำหรับแผนการทำตลาดของทั้ง 3 แบรนด์ใหม่นี้ จะแบ่งการทำตลาดตามศักยภาพของแบรนด์โดย ทิวดอร์ จะเน้นการทำตลาดที่สื่อสารตัวแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตามนโยบายบริษัทแม่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ต้องการแยกแบรนด์ทิวดอร์ออกมาจากเงาของโรเล็กซ์ จากอดีตที่มีการวางจำหน่ายในช็อป ของโรเล็กซ์ตลอดเวลา เพื่อให้แบรนด์สามารถทำตลาดเอง ผลิตชิ้นส่วนเอง มีแนวทางที่มีการบริการจัดการตัวเองแยกออกมาหรือมีอิสระมากขึ้น เนื่องจากแบรน์สามารถเติบโตเองได้แล้ว ซึ่งถือเป็นการแจ้งเกิดทิวดอร์อย่างเป็นทางการ
โดยมีแผนเปิดบูทีก หรือแฟลกชิพสโตร์ แบบสแตนด์อะโลนขนาดใหญ่แห่งแรกในเมืองไทยของแบรนด์ทิวดอร์ บนพื้นที่ 120 ตร.ม.ที่ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้ ก่อนจะขยายเข้าไปวางจำหน่ายใน ศูนย์การค้าสยามพาราก่อน หลังจากเลื่อนการเปิดสโตร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีเรื่องของเคอร์ฟิวส์และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
“เดิมทีการทำตลาดในไทยและทั่วโลกของทิวดอร์เป็นแบรนด์ที่อยู่ในบูทีกของโรเล็กซ์ หรือจำหน่ายอยู่รวมกับบูทีกของลักชัวรี่แบรนด์อื่นๆ ซึ่งหากปีนี้มีการจัดงานบาเซิลแฟร์ 2020 ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ทิวดอร์จะมีบูธเป็นของตัวเองอย่างเป็นทางการภายในงาน แต่ทว่าจากผลกระทบวิด -19 ทำให้ไม่มีการจัดงาน ทำให้ต้องรอเวลาที่เหมาะสมหลังสถานการณ์กลับมาคลี่คลายอีกครั้ง ซึ่งบริษัทมองว่าแบรนด์มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ในไทย จึงเข้าเป็นดิสทริบิวเตอร์ดังกล่าวทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งรีเทลเลอร์อย่างเป็นทางการในไทย ที่มีอยู่ 4-5 รายในปัจจุบัน”
นายศาศวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่แบรนด์ คาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ (Carl F.Buchere) ถือเป็นนาฬิกาแบรนด์หรูเก่าแก่ของสวิส เคยทำตลาดในเมืองไทยมาก่อน และหายไปจากตลาดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการกลับมาครั้งนี้จะเป็นการรีอินโทรดิวซ์ใหม่ในตลาดไทย และเป็นการทำตลาดในกลุ่มนาฬิกาลักชัวรี่ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ ซาร์การ์ (SARCAR) กลุ่มนาฬิกาจิวเวลรี่ เน้นเครื่องประดับตัวเรือนทองคำ ทองคำขาว ทองคำชมพู และฝังเพชร ระดับราคา 3-4 แสนบาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่คุ้นเคยกับคนไทยมา และถือเป็นการนำกลับมาทำตลาดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย จากที่ผ่านมาแบรนด์ดังกล่าวไม่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการทำตลาดผ่านดิสทริบิวเตอร์อย่างเป็นทางการ
ขณะที่บูทีกของแบรนด์ ซาร์การ์กับ คาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ นั้นได้เตรียมเปิดที่ ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ บนพื้นที่ 120 ตร.ม. ซึ่งเป็นการรวมทั้ง 2 แบรนด์ไว้ในร้านเดียวกัน โดยมีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้ หลังจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีการขาย มีเพียง Pop Up Store ที่ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจเท่านั้น แต่เนื่องจากต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงยังไม่มีการทำตลาดอย่างจริงจังซึ่งถือเป็นความโชคดีของแบรนด์
ขณะที่อีก 3 แบรนด์ที่มีอยู่เดิมอย่าง บอมเบิร์ก (Bomberg),เอโพส (Epos),เฟนดิ ( Fendi) ก็พร้อมที่จะขยายจุดจำหน่าย แต่เบื้องต้นต้องมีการศึกษาตลาดหลังจากนี้ก่อนเนื่องจากการขยายการลงทุนจำเป็นต้องมีการสต๊อกสินค้าเพิ่ม และลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งในสภาวะเช่นนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาตลาดให้ดี อย่างไรก็ตามสิ้นปีนี้บริษัทมองว่าการเติบโตก็ยังมีอยู่แต่ส่วนจะมากหรือน้อยนันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นเรื่องที่ยากจะประเมิน เนื่องจากกลุ่มนาฬิกาที่ส่งออกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงไตรมาส 1 ติดลบถึง 40% จากการล็อกดาวน์ประเทศ ปิดโรงงานและไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้บริษัทต้องคอยดูสถานการณ์จากบริษัทแม่และกำลังซื้อในเมืองไทยอีกระลอก
“แม้เราจะมีแผนการขยายสาขาและปั้นแบรนด์ต่อเนื่อง แต่ด้วยจากสถานการณ์และสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้บริษัทยังไม่มีการเดินหน้าขยายสาขาหรือบูทีกของแต่ละแบรนด์มากจนเกินไป เนื่องจากต้องระมัดระวังตัวค่อนข้างมาก จากสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมลูกค้าที่จะใช้เวลาเดินเลือกซื้อของในห้างสรรพสินค้าน้อยลง ขณะที่ในห้างแบบลักชัวรี่มีกำลังซื้อและโอกาสทางการขายมากกว่า”
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563