การมาของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจกลางคืนมืดสนิทลงทันที นั่นหมายถึงว่าแรงงาน ผู้ประกอบการ และครอบครัวอีก 4-5 ล้านชีวิตตกอยู่ในความเคว้งคว้างมืดหม่น ชีวิตดำดิ่งลงสู่ก้นเหวในทันใดในรอบ 2เดือนที่ผ่านมา
“ชีวิตคนกลางคืนเสี่ยงและไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาแสวงโชคในกรุงเทพฯสาวบาร์ อาบอบนวด ส่งเงินไปเลี้ยงครอบครัว พ่อแม่ในต่างจังหวัดก็รอ หนี้ก็มาจ่อคอหอย เขาก็ตามทวงทุกวัน ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ทุกวันนี้เงินกินข้าวแทบไม่มีอย่าว่าแต่ส่งเงินกลับบ้าน”ดาว จากสถานอาบอบนวดโอดครวญทั้งน้ำตา
ไม่เฉพาะในกรุงเทพ แต่หัวเมืองต่างจังหวัด แสงสีราตรีแห่งค่ำคืนที่ดับลง ทำให้ชีวิตผู้ขายบริการเหลือแค่ลมหายใจที่รวยรินเต็มที !!
รายงานของ Nikkei Asian Review “Pandemic dims lights on Thailand’s $5bn nightlife sector” เมื่อต้นปี 2563 ประมาณการว่า ธุรกิจบริการภาคกลางคืนของไทยมีมูลค่ารายได้สูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 1.8 แสนล้านบาท
ขณะที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) องค์กรด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศรวมถึงแรงงานในสถานบันเทิงยามค่ำคืน บอกว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนสูงถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.1 แสนล้านบาทต่อปี
แน่นอนไม่สามารถปฏิเสธได้ เมื่อรายงานของสำนักข่าว CNN บอกว่าจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว 10 เมืองที่โดดเด่นของนักท่องราตรี มีกรุงเทพฯติดอันดับ1ใน10 เคียงคู่ ลาสเวกัส ไมอามี นิวยอร์ก บาร์เซโลนา เบอร์ลิน โซล
กรุงเทพมีแสงสีของราตรีเป็นจุดขาย สถานบันเทิง ผับ บาร์ ธุรกิจสีเทาขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ดินมูลค่ามหาศาล ก่อนหน้านี้มีความพยายามขยายเวลาปิดสถานบริการด้วยซ้ำ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ฝันมอดลงด้วยข้อถกเถียงและการยอมรับจากสังคม ก่อนดับสนิทเมื่อโควิดมาเยือน
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงาน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ได้สำรวจสถานบริการในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนร้านค้าสถานบริการประมาณ 1.4 แสนแห่ง เฉลี่ยแต่ละร้านมีพนักงาน 10 คน (ขั้นต่ำ) จะมีแรงงานในธุรกิจสถานบริการกลางคืนประมาณ 1.4 ล้านคน
ขณะที่ภาครัฐ ระบุว่า ในภาคบริการกลางคืน มีแรงงานราว 3 แสนคน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าที่ไม่มีฐานรองรับเพราะเป็นแรงงานนอกระบบไม่สามารถตรวจนับ ไม่มี กฏหมายแรงงานรองรับ ขณะนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นไป 4-5 เท่าเอาเป็นว่าไม่น้อยกว่า 1.8 -2 ล้านคนทั่วประเทศ
แรงงานเหล่านี้กำลังเผชิญกับวิกฤติหนัก เข้าไม่ถึงการเยียวยาและช่วยเหลือของภาครัฐ สถานบริการถูกปิดตั้งแต่ 18 มีนาคม - ปัจจุบัน และยังไม่รู้ว่าจะเปิดเมื่อไร ทำให้คนตกงาน ว่างงาน และกำหนดอนาคตตัวเองไม่ได้
แรงงานกลุ่มนี้หลังถูกปิด ส่วนมากเดินทางกลับต่างจังหวัด กระจายไปทำมาหากินอาชีพอื่น
แรงงานและสถานประกอบการเหล่านี้จะอยู่รอดได้ ต้องปรับระบบใหม่ให้ทุกคนเข้าสู่ระบบให้เป็นเรื่องของความถูกต้อง ในการทำงาน โดยรัฐบาลต้องรู้จำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบ มีเงินช่วยเมื่อเกิดปัญเหมือนกลุ่มอาชีพอื่น
“ถึงเวลาที่ต้องมีระบบ ลดปัญหาการเก็บส่วย เดี๋ยวนี้มีพรบ.สถานบริการที่ควบคุมกำกับดูแลเฉพาะสถานบริการ การให้บริการ การดำเนินงาน แต่ไม่มีการพูดถึงพนักงาน บุคลากรเลย”
อันที่จริงจะครอบธุรกิจนี้ให้เป็นสีเทา ให้เขาหลบๆซ่อนๆ อยู่ใต้ดินเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เพราะว่ากันจริงๆแล้ว คนกลางคืนเองก็มีส่วยในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจภาพใหญ่อยู่หลายแสนล้านบาทและที่สำคัญปากท้อง และมีคนฝากชีวิตไว้กับพวกเขามากมาย
แม้วิถีใหม่หลังโควิด-19 คงไม่เอื้อต่อธุรกิจบริการแบบนี้มากนัก แต่คงไม่สามารถปฏิเสธการดำรงคงอยู่หรือกวาดให้พ้นกระดานในคราวเดียวได้
ทำอย่างไรให้แสงสียามราตรีกลับมา ไม่ต้องถึงกับเฉิดฉายพร่างพรายเหมือนเดิม
ขอแค่สาดส่องให้เห็นทางเดิน ก็เพียงพอแล้ว
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4-6 มิถุนายน พ.ศ. 2563