การร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลนวงเงิน 2.41 หมื่นล้านบาท ของ 8 สายการบินของไทย ได้เรียกร้องมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม2563 และเมื่อวันที่ 24 เมษายน2563 เป็นครั้งแรกที่ทั้ง 8 สายการบินได้ร่วมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหารือถึงการขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าหรือซอฟต์โลนวงเงินดังกล่าว เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุด แต่จนถึงทุกวันนี้สายการบินต่างๆก็ยังคงรอลุ้นจะมีการนำเรื่องเสนอครม.ได้เมื่อไหร่ โดยถ้ายิ่งช้าพนักงานในธุรกิจนี้ร่วม 2-3 หมื่นคนจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สศค.ได้จัดทำแพกเกจเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) 24,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินเรียบร้อยแล้ว และเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้จะเป็นการใช้เงินจากธนาคาร ออมสินที่ปล่อยกู้ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim Bank) เพื่อไปดำเนินการปล่อยกู้ให้กับสายการบินอีกต่อหนึ่ง
“เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ดอกเบี้ยตํ่า ในหลักการจะต้องมีการชดเชยความเสียหายบางส่วนให้กับธนาคารผู้ปล่อยกู้ จึงต้องได้รับอนุมัติจากครม.ในหลักการก่อน ไม่ใช่เพียงว่า จะเป็นใครลงนามอนุมัติเท่านั้น ซึ่งต้องขึ้นกับว่า นายอุตตมจะนำเสนอครม.เมื่อไหร่ เพราะขณะนี้ Exim Bank เองก็มีการเรียกสายการบินคุยเป็นรายๆไป เพื่อดูความต้องการเงินทุนของแต่ละแห่งแต่ต้องรอนโยบายก่อนว่าครม.จะอนุมัติหลักการใดบ้าง” นายลวรณ กล่าวทิ้งท้าย
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แต่ละสายการบินต่างมีเงินสดที่พอจะประคองธุรกิจได้จำกัดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2เดือน
การขอซอฟต์โลนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะประคองธุรกิจให้ยังพอไปได้เพื่อให้อยู่ได้ เพราะเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย สายการบินก็จะกลับมาทำการบินได้ทันที เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวของประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาซอฟต์โลนช่วยเหลือสายการบินโดยเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นต่อไปไทยก็คงจะเหลือสายการบินต้นทุนตํ่าเปิดให้บริการอยู่ราว 2-3 สายการบิน
สำหรับการขอวงเงินซอฟต์โลน 24,150 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท 2.สายการบินไทยแอร์เอเชีย วงเงิน 4,500 ล้านบาท 3.สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท 4.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วงเงิน 3,750 ล้านบาท 5.สายการบินไทยเวียตเจ็ท วงเงิน 900 ล้านบาท 6.สายการบินไทยสมายล์ วงเงิน 1,500 ล้านบาท 7.สายการบินนกสกู๊ต วงเงิน 3,500 ล้านบาท และ 8.สายการบินนกแอร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่านั้น จะขอดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. 2564
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการธุรกิจการบิน เผยว่า ทุกสายการบินต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยการลดค่าใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนพนักงานและผู้บริหาร รวมไปถึงการดาวน์ไซต์องค์กร เพื่อประคองตัว อย่างล่าสุดสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ก็ได้คืนเครื่องบินกลับไปให้บริษัทแม่แล้ว โดยลดจำนวนฝูงบินจาก 30 ลำเหลือ 15 ลำเพื่อไม่ต้องแบกค่าใช้จ่าย และแน่นอนว่าจะต้องมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้น
ควบคู่ไปกับการหารายได้เข้ามาด้วยการทยอยกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศ เพื่อสร้างกระแสเงินสด เพราะยังไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้ เนื่องจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ออกประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทยถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ อาทิ ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย กลับมาบินในประเทศได้ 11 เส้นทางจาก 36 เส้นทาง นกแอร์ ทำการบินในประเทศได้ 14 เส้นทางจาก 30 เส้นทาง ไทยไลอ้อนแอร์ บินในประเทศได้ 5 เส้นทางจาก 14 เส้นทาง
แม้สายการบินต่างๆจะทยอยกลับมาบินได้ไม่ถึง50%แต่การขายแม้จะต้องขายตั๋วแบบที่เว้นที่ แต่ทุกสายก็จะขายตั๋วในราคาเฉลี่ย 1,200 บาทต่อเที่ยวบิน ไม่ได้ขายตํ่ากว่า 1 พันบาทต่อเที่ยวบินอย่างในอดีต ก็พอประคองตัวได้อยู่บ้าง โดยมีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยราว 80% แต่สำหรับบางสายการบินที่ไม่ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศ อาทิ นกสกู๊ต ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ก็ยังคงไม่สามารถทำการบินได้ จึงอยากร้องขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกระทบการจ้างงาน ซึ่งสายการบินเหล่านี้มีพนักงานรวมกันร่วม 2-3 หมื่นคน
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563