การบินไทยที่ปัจจุบัน พ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กำลังพิจารณาเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์การบินไทย เช่าพื้นที่ 200 ไร่ ในการลงทุน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เฟส1 เนื่องจากได้รับสิทธิตามมติครม. เพื่อให้การบินไทยเช่าพื้นที่ลงทุนในโครงการดังกล่าว รวมถึงการหาผู้ร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งรัฐจะลงทุนด้านการก่อสร้างให้ 6 พันล้านบาท และเอกชนลงทุน 4 พันล้านบาท
แม้ดีลที่การบินไทยจะดึงแอร์บัสเข้ามาร่วมลงทุนโดยลงทุนฝ่ายละ 2 พันล้านบาท จะล่มไป แต่สิทธิประโยชน์ที่การบินไทย เคยได้รับก็ยังคงอยู่ ที่ยังมีสิทธิในการลงทุนเองหรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้ ซึ่งขณะนี้อีอีซีก็กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทบทวน หรือหาแนวทางอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ก่อนหน้านี้การบินไทยเอง ก็มองว่า MRO เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนรายได้ในส่วนของหน่วยธุรกิจฝ่ายช่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อการบินไทย อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ทางผู้ทำแผนฟื้นฟู ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม เพราะท่ามกลางวิกฤติการบินหลังโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน เช่นกัน รวมถึงข้อกฏหมายต่างๆด้วยเช่นกันว่าจะเดินหน้าในโครงการนี้อย่างไร เพราะ1ใน 5 ของแนวทางฟื้นฟูการบินไทย ก็มีแผนปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่นการตั้งบริษัทย่อย จัดหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมทุน หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของหน่วยธุรกิจ
นอกเหนือจากแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้,การปรับปรุงเส้นทางบิน,ปรับปรุงกลยุทธการขายที่เน้นการขายผ่านอินเตอร์เน็ต ปรับปรุงค่าตอบแทน รวมถึงการประเมินผลงานตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ
สำหรับกรอบระยะเวลาในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในขณะนี้ผู้จัดทำแผนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ เพื่อประกอบการไต่สวนคำร้องของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนได้ในเดือนมิ.ย.64 (กราฟฟิกประกอบ) จากนั้นต้องดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือ ปี 2569
ทั้งนี้แม้ การบินไทยจะพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถสนับสนุนการปล่อยเงินกู้หรือการคํ้าประกันเงินกู้ให้การบินไทยได้โดยตรง
แต่ด้วย การบินไทย มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทางทีมผู้ทำแผนฟื้นฟู ก็มองว่าจะได้รับสนับสนุนทางอ้อมจากสถาบันการเงินของรัฐในการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการอนุมัติของศาลฯ
ส่วนการปรับโครงสร้างเงินทุนระยะยาว ขึ้นอยู่กับผู้ทำแผนและแผนที่จะได้รับการอนุมัติว่าจะมีความต้องการขนาดทุนเท่าไหร่ โดยอาจจะมาจากการแปลงหนี้ให้เป็นทุน หรือทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือจากพันธมิตรใหม่
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เราพยายามทำแผนฟื้นฟูให้ดีที่สุด และนำการบินไทยกลับมาเปิดธุรกิจได้ตามปกติ ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
การบินไทยพร้อมกลับมาบิน ถ้ามีการเปิดให้ทำการบินได้ ทั้งนี้การบินไทยพ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ทำให้ต้องมีการออกข้อบังคับให้เป็นไปตามการดำเนินธุรกิจของบริษัท อย่างการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานการบินไทย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งก็เป็นกำหนดขั้นตํ่าที่กม.กำหนดไว้เกี่ยวกับการทำงาน ไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิพนักงาน ซึ่งจะเป็นอีกข้อกำหนดเรื่องนี้โดยเฉพาะที่จะออกมาต่อไป ที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานะของบริษัทในปัจจุบัน
ส่วนแผนการผ่าตัดการบินไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยหลักการ การบินไทย ต้องกลับมาเริ่มนับ 1 ใหม่ ขั้นตอนหรืออะไรที่ไม่จำเป็นต้องมี ไม่มีเหตุมีผลตอนนี้ ก็ต้องจัดการ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเราพยายามกระทบพนักงานให้น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันการบินไทยยังมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท
ในด้านของการเจรจากับเจ้าหนี้ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน เพื่อให้การบินไทย กลับมาทำการบินแล้วไม่ถูกยึดเครื่องบิน ส่วนการไปยื่นคำร้องใน 2 ประเทศ ก็เป็นเพียงการยื่นคำร้องให้เขารับทราบและรับรู้ว่าการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลางของไทย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คืบหน้า "การบินไทย" แจงครม. ยื่นขอรับรอง "ฟื้นฟูกิจการ" ในต่างประเทศ
“การบินไทย” เผย 5 แนวทางฟื้นฟูกิจการ
ผู้ถือหุ้นกู้"การบินไทย" สอบถามข้อมูลได้ทางไหน