การจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย นอกจากคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ จะอยู่ระหว่างร่างแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ เพื่อนำไปใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 17 ส.ค.นี้แล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทยอยเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของฝั่งลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลาง จะนัดไต่สวน ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เพื่อกันไม่ให้เจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้รวมกันไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 หนี้สินทั้งหมดของการบินไทย มายื่นคำคัดค้านและเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการมาแข่ง ซึ่งตามขั้นตอนศาลฯจะเปิดให้เจ้าหนี้มายื่นคำคัดค้านได้ในวันที่ 13 ส.ค.นี้
เปิด 5 อันดับเจ้าหนี้สูงสุด
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ตามที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง การบินไทยมีเจ้าหนี้รวมกันมากกว่า 2.5 ล้านราย มีมูลค่าหนี้สินรวม 352,484 ล้านบาท โดยจำนวนหนี้สินสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เจ้าหนี้เครื่องบิน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 41.2% รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงาน(Operating Lease) 39 ลำ และหนี้สินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน(Financing Lease) 31 ลำ รวมหนี้กว่า 145,246 ล้านบาท อันดับ 2 เจ้าหนี้หุ้นกู้ 21.02% มูลค่า 74,180 ล้านบาท
อันดับ 3 เป็นประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น 9.09% มูลค่า 32,049 ล้านบาท อันดับ 4 เป็นเงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้อง 7.54% มูลค่า 26,589 หมื่นล้านบาท และอันดับ 5 เป็นรายรับล่วงหน้า 5.13% มูลค่า 18,093 หมื่นล้านบาท อาทิ เงินค่าตั๋วเครื่องบินที่ยังไม่ได้จ่ายคืนให้แก่ผู้โดยสาร
ปัจจุบันการบินไทย อยู่ระหว่างแบ่งกลุ่มประเทศในการยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในต่างประเทศ ที่เรียกว่า Recognition โดยได้ยื่นขอรับรองไปที่ศาลของเยอรมันและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งข้อดีคือ ไม่ใช่การฟ้องคดีฟื้นฟูกิจการใหม่ แต่เป็นการให้ประเทศนั้นๆรับรองการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในประเทศไทย ที่ปกป้องไม่ให้มีการยึดเครื่องบิน
โอ้โห! ค่าน้ำมันรถ บิ๊ก "การบินไทย" 7.5 หมื่นบาท/เดือน
อัพเดท "การบินไทย" ภายใต้การฟื้นฟูกิจการ คลิกอ่านได้ที่นี่
ขณะเดียวกันผู้ทำแผน ยังเดินหน้าทำความเข้าใจกับพนักงาน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกระบวนการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้น ผ่านการประชุมสตาร์ฟ มีตติ้ง ผ่านระบบออนไลน์ ของรักษาการดีดีการบินไทยและฝ่ายบริหารของบริษัทฯเพื่อขอความร่วมมือในการลดค่าใช้จ่าย และทำความเข้าใจการดำเนินการในขณะนี้
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใจให้พนักงานการบินไทยฟังเป็นครั้งแรกว่า ขั้นตอนจากนี้ไปจนถึงวันที่ 17 ส.ค.นี้ เราอยู่ระหว่างทยอยเจรจากับเจ้าหนี้ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้ทางการค้า ทำทุกวิถีทาง ให้เจ้าหนี้เกินครึ่งเทเสียงมาที่เรา เพื่อให้มั่นใจว่าทีมผู้ทำแผน จะได้รับการอนุมัติจากศาลฯให้มาบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย เพื่อกันไม่ให้เกิดการยื่นคัดค้านการเจ้าหนี้และส่งผู้ทำแผนขึ้นมาแข่ง เพราะจะทำให้สถานะของเราเกิดความเสียเปรียบ และไม่รู้เกมส์จะเดินอย่างไร
บริหารเงินสด-หาเงินกู้กลับมาเปิดบิน
ดังนั้นหลักๆคือต้องทำให้เจ้าหนี้และศาลฯเชื่อว่า กิจการของการบินไทยเดินต่อไปได้ และรับแผน ถ้าศาลฯอนุมัติ ก็จะใช้เวลา 3-5 เดือนในการทำแผน และบริหารแผนต่อไป ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การบริหารเงินสด ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกด้าน รวมถึงการเข้าสู่การพักชำระหนี้ ก็ทำให้ประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายออกไป และด้วยการบินไทยจะต้องกลับมาเปิดบินใหม่ ที่ในขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเมื่อไหร่ เพราะมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 ทำให้เกิดการห้ามบินจากประเทศต้นทางและปลายทาง แต่การบินไทยก็พร้อมเสมอหากมีการปลดล็อกให้กลับมาทำการบินระหว่างประเทศ
การกลับมาเปิดบิน ก็ต้องใช้เงินไม่น้อย ซึ่งท่ามกลางกระแสเงินสดที่เหลือน้อย และยังคาดหมายไม่ได้ว่าธุรกิจการบินหลังหมดโควิดจะเป็นเช่นไรทางฝ่ายบริหารจึงยังต้องขอความร่วมมือกับพนักงานในการลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง อย่างการสมัครใจลดเงินเดือน10-50% ออกไปอีก 3 เดือน ที่หากทุกคนร่วมมือกันก็จะประหยัดไปได้เดือนละอีก 300 ล้านบาท หรือยืดไปได้ 1 เดือน รวมถึงดำเนินการเรื่องของการขอสนับสนุนเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อรองรับการกลับมาเปิดทำการบินใหม่ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้มั่นใจให้เรากู้เงิน
กาง6กลยุทธฟื้นฟูกิจการ
กระบวนการฟื้นฟูหากศาลฯอนุมัติ เราจะทำใน 6 กลยุทธ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อสรุป ได้แก่
1. การปรับฝูงบิน ลดเครื่องบินและแบบเครื่องบิน เนื่องจากมีหลายรุ่น ใช้เครื่องยนต์หลายประเภท และเครื่องบินมีอายุมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนว่าควรจะต้องเหลือฝูงบินกี่ลำสำหรับใช้ในอนาคต ที่ในขณะนี้เราต้องเร่งหาข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเกี่ยวกับการลงทุนและเพิ่มทุนที่จะมีในอนาคต
2. การพิจารณาเรื่องของเส้นทางบิน ที่ในอดีตการบินไทยมีเที่ยวบินทั่วโลก 6 พันกว่าเที่ยวบินต่อปี แต่หลังโควิด ไม่สามารถบอกได้ว่าธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ เส้นทางบินที่เคยบินจะบินเหมือนเดิมหรือไม่ จึงมีการหาผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาอย่างละเอียด เพื่อกำหนดอนาคตว่าการบินไทยจะบินไปไหนบ้าง ซึ่งในแผนฟื้นฟูต้องมีข้อมูลนี้ เพราะส่งผลต่อการคำนวณรายได้ และการให้บริการของการบินไทยในอนาคต
3. การเพิ่มประสิทธิภาพของรายได้ เช่น การปรับระบบการจัดจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน เพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือ มีการขายตั๋วผ่านเอเย่นต์มาก เงินสดเข้าบริษัทช้า กติตาต่างๆไม่เคยเปลี่ยน แต่นับจากเดือนก.ค.นี้ก็จะเห็นการเริ่มปรับระบบการขายตั๋วใหม่ โดยจะขายราคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านเว็บไซด์ หรือเอเย่นต์ ก็จะเท่ากัน ไม่มีการจ่ายค่าคอมมิชั่นทั่วโลก
4.การปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งต้องรอหลังจากดูการดาวน์ไซด์เครื่องบินและเส้นทางบินก่อน เพื่อปรับการทำงานของคนให้สอดคล้องกัน โดยปัจจุบันพนักงานยังอยู่สถานะเดิมไม่มีการให้ออกในช่วงนี้ จนกว่าจะสรุปแผนดาวน์ไซด์ และทำเรื่องการปรับโครงสร้างให้มีความชัดเจน ที่ก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะได้ความชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งการดาวน์ไซด์ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องลดคนมากมายเสมอไป แต่เป็นการโลเทคพนักงานไปทำงานในส่วนที่เพิ่ม สร้างงานใหม่ การปลดคนก็มีน้อยลง
5. การประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเทียบเคียงกับอุตสาหกรรมการบินต่างๆ
6. การดำเนินการเรื่องหน่วยธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวการบิน คาร์โก้ ซ่อมบำรุงอากาศยาน สายการบินไทยสมายล์ จะต้องมีการทบทวนบทบาทใหม่ของหน่วยธุรกิจเหล่านี้ในอนาคต ว่าจะสามารถขยายธุรกิจออกไป หรือหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันหลังจากการบินไทยหลุดพ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ สิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก็หายไปหลายเรื่อง ทั้งการเช่าพื้นที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ก็ต้องเริ่มกลับมาเจรจาสัญญาใหม่
อีกทั้งด้วยส่วนใหญ่เจ้าของพื้นที่ คือบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. การบินไทยก็เล็งที่จะดึงทอท.เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูก เพราะทอท.ก็มีบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกับการบินไทยด้วย ทั้งก็มองเรื่องของการระดมทุน หาผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นบริษัทลูกด้วยเช่นกัน
“บริษัทแม่ ที่ดำเนินธุรกิจการบิน ภายใน 1-2 ปีนี้ จะยังไม่กลับมาทำการบินเต็มรูปแบบเหมือนอดีตได้ เพราะโควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม แต่จากกลยุทธทั้ง 6 ด้าน เราก็หวังว่าถ้าทุกอย่างเดินไปด้วยดี ภายใน 5 ปี หลังบริหารแผนเสร็จ ก็น่าจะนำการบินไทยกลับมาแข็งแรง และเดินได้ด้วยขาของตัวเอง ”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 วันที่ 14-17 มิถุนายน 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด อีเมล์- sms "การบินไทย"ส่งตรงเจ้าหนี้ แจ้งฟื้นฟูกิจการ
“KTB” พร้อมให้สินเชื่อการบินไทยให้กลับมาแข็งแรง
“การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟู แล้วจะรอดหรือไม่ ?