จากการที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เกาะติดการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ในข่าว พาดหัว “กยท.เล็งระบายยาง 1.2แสนตัน ประเมินขาดทุนยับ 20-60 บาทต่อกก.” โปรยข่าว กยท.ตีมูลค่ายาง 2 โครงการในสต๊อกรัฐบาล 1.2 แสนตัน รัฐขาดทุนยับ 20-60 บาท ต่อกก. วางแผนเร่งระบายปี 63 นำเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. พร้อมของบชดเชยผลขาดทุน เผยแบกค่าเช่าโกดัง-ค่าบริหารอ่วม 132 ล้านต่อปี นั้น
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในที่ประชุมได้มีการหารือพร้อมตีประเมินการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น แต่ยังไม่มีมติการขายยางยางพาราในสต๊อกรัฐบาล มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 53,190.14 ตัน 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 51,572.88 ตัน รวม 2 โครงการ 1.04 แสนตัน (ไม่มีสัญญาซื้อขาย) วงเงินกู้รวม 2 โครงการ 3.16 หมื่นล้านบาท
“ที่ประชุมได้เห็นชอบแค่จัดสรรงบประมาณเป็นค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างและผลิตยางและอื่นๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวนเงิน 772.47 ล้านบาท และเห็นชอบจัดสรรงบประมาณเป็นค่าเช่าโกดัง และค่าประกันภัย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวนเงิน 126.286 ล้านบาท รวมค่าใช้ กว่า 898 ล้านบาท ก็แค่นั้น ยืนยันว่าไม่มีการอนุมัติหรือขอมติให้ระบายสต็อกยาง”
ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. กล่าวว่า ผมเองค้านในที่ประชุม กนย. ไม่เห็นด้วยที่ กยท.จะนำยางไปขาย แล้วไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อะไรที่นำเข้ามาใน กนย.เพื่อพิจารณา มาเสนอทำไมในที่ประชุมขณะที่ราคายางพาราอยู่ในช่วงกำลังโงหัวขึ้น ซึ่งวันนั้นผมก็ค้านในที่ประชุม ผมไม่รู้หรอกว่าจะพอใจหรือไม่ แล้วบอกว่ายางกำลังขาขึ้น ไม่ควรจะขายในตอนนี้ จะส่งผลทำให้ยางพาราตกต่ำ
“ผมได้เสนอแนะไปว่าให้รัฐบาลควรจะมอบให้ กยท. ไปให้ อบจ./อบต. ราดปูถนนทั่วประเทศให้หมด ให้เป็นงบประมาณข้ามปีไปก็ได้ หรือชดเชยการขาดทุนทีหลังก็ได้ แล้วให้ขนยางพาราไปจะไม่ต้องจ่ายเก็บโกดัง ค่าประกันภัย ไม่ต้องมารับภาระตรงนี้”
นายอุทัย กล่าวว่า คนอื่นไม่ค้านเลย มีผมค้านอยู่คนเดียว ก่อนหน้านั้นก็เคยฟ้องศาลปกครองมาแล้ว ผมทำมาโดยตลอดไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เวลายางพาราขึ้นก็จะขาย เวลายางพาราลง ก็ไม่เห็นจะดิ้นรนขายยางเลย พอยางจะเริ่มโงหัวขึ้น ก็นำยางออกมาขายเพื่อให้ราคายางพาราลงมาอีก ซึ่งตรงส่วนนี้มีเงินทอนอยู่ ก็อ้างมีค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย และหากยิ่งเก็บยางจะยิ่งราคาเสียไปมากกว่านี้ ข้ออ้างเพียบไปหมด
ราคายางแผ่นรมควัน ราคาอยู่ที่ 40-41 บาทต่อกิโลกรัม หากจะขายประมูล กยท.จะขายได้ราคาถึง 20 บาทต่อกิโลกรัมหรือไม่ ดีไม่ดีอาจจะขายได้แค่ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม การขายแบบนี้จะทำให้ กยท.ขายขาดทุนมาก ได้ไม่คุ้มเสีย ล่าสุดทางสมาคมสมาพันธ์ฯ ได้ของบผลิตหมวกยาง 45 ล้านบาท จ้างสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศผลิต ซึ่งจะมีการแจกหมวกยางในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ที่ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง เป็นการซื้อขายยยางปกติ เพื่อผลิตหมวกยาง
แต่ถ้านำยางในสต็อกมาผลิต เกษตรกรรายใดจะผลิตหมวกยางก็มาขนยางไปทำเลย โดยให้จังหวัดแต่ละจังหวัดเก็บไว้ โดยไม่ต้องไปซื้อยาง ลดต้นทุน เพราะถ้าคิดหมวกยาง ตามราคายางในท้องตลาดจะแพง แต่ถ้าผลิตหมวกยางนอกจากจะได้ราคายางต้นทุนต่ำแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้สถาบัน/กลุ่มเกษตรกรผลิตโดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนามาตรา 49(3) ใช้ฝึกงาน เป็นการกระจายงานให้เกษตรกรทำงานด้วย รับซื้อ กยท. แล้วให้ กยท.นำมาแจกเกษตรกรฟรี เพราะเสียเงินเซสส์กิโลกรัมละ 2 บาท อย่างน้อยไม่เคยได้รับอะไรเลย ก็ได้รับหมวกยางแทน