จากที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) (9 เม.ย.63) มีการประชุมวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาแนวทางลดผลกระทบเพื่อลดและแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นด้วยเหตุ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.การผลิตน้ำนมโคของสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นช่วงที่น้ำนมของสมาชิกเกษตรกรที่ผลิตได้ปริมาณเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องตามลำดับ
2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้านอย่างรุนแรง อันมีผลกระทบต่อตลาดนมพาณิชย์ด้วย เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ลงอย่างต่อเนื่องจึงเกิดการชะลอตัวของตลาดนมพาณิชย์ภายในประเทศจึงเกิดสถานการณ์ที่ตามมาคือการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำนมที่เหลือไม่มีที่จำหน่ายเป็นสถานการณ์น้ำนมดิบล้นนั้น
“ผลการประชุมการประชุมมิลค์บอร์ด เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเ (ครม.) เห็นชอบก็คือ ขยายเด็กนักเรียนดื่มนมโรงเรียนเสาร์-อาทิตย์เพิ่มในปี 2563 แต่ว่าทาง ครม.ยังไม่ได้บรรจุวาระในการพิจารณานั้น ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการน้ำนมดิบมีมาก เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจึงได้มีการหารือมิลค์บอร์ดที่จะขอบริจาคผลิตภัณฑ์นมจำนวน 1 แสนกล่อง ให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปส่งมอบช่วยเหลือเด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ หรือประชาชนที่ยากไร้ที่ได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้ดื่มนมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง มีความคืบหน้าตามลำดับ
นายนัยฤทธิ์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ได้มีการประชุมพิจารณาการเสนอต่อรัฐบาลผลักดันให้เด็กดื่มนมเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ จาก 260 วัน เป็น 365 วันนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีนมดิบเหลือจากการจัดสรรสิทธิ์ จึงทำให้มีการขายน้ำนมดิบนอกโควตาในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานรับซื้อ และปัจจุบันผู้ประกอบการต้องนำน้ำนมดิบที่เหลือไปบรรจุเป็นนมยูเอชที ตราโรงเรียน ไว้เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมด
“ดังนั้นการเรียกร้องในครั้งนี้ เมื่อมิลค์บอร์ด ได้มีการพิจารณาผ่านไปแล้วนั้น ก็ขอให้รัฐบาล บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เร่งรัดบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาโดยเร็วที่สุด และในเร็วนี้ ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อมอบให้รัฐบาลนำผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนไปบริจาค ปัจจุบันมีกว่า 1 แสนกล่องแล้ว”
นายนัยฤทธิ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า วันนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการ ไม่มีทางออกแล้ว หลังพิงกำแพง ก็มีทางเดียวที่เป็นแสงสว่าง ขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาผลักดัน ครม.เห็นชอบโดยเร็ว ไม่เช่นนั้น เกษตรกรจะอยู่กันไม่ได้ ขอความเมตตาจากรัฐบาลด้วย
อนึ่ง ผลการจำหน่ายสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 มีผู้ประกอบการทั้งหมด 72 ราย ปริมาณน้ำนมดิบที่ยื่นสมัคร 1,507.177 ตัน/วัน ปริมาณน้ำนมโคที่ได้รับสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน 1,052.650 ตัน/วัน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ดื่มนม 260 วันต่อปีการศึกษา ได้สั่งการให้หน่วยจัดซื้อหรือโรงเรียน จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการแจกจ่ายนมโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียนโดยตรง หรือนัดหมายให้กับผู้ปกครองมารับนมโรงเรียนในวันและเวลาที่หน่วยจัดซื้อหรือโรงเรียนกำหนด โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 หรือแนวทางอื่นใดที่หน่วยจัดซื้อหรือโรงเรียนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องตามบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมโรงเรียน
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล "Thai School Milk" เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการข้อมูลการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน สามารถใช้งานผ่าน web browser บน PC Tablet และ Smartphone ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ จัดการข้อมูลและรับทราบการเคลื่อนไหวข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ตอบสนองปัญหาต่างๆ ได้ทันต่อสถานการณ์
โดยจะเริ่มใช้งานบันทึกข้อมูลผลการจัดสรรสิทธิ และการทำสัญญาได้แล้ว คาดว่าจะพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จและใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563