สทบ.ลั่น ทุก"กองทุนหมู่บ้าน"ต้องได้เท่ากัน 5 แสนบาท ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

21 มิ.ย. 2563 | 08:45 น.

อย่างที่รู้กันว่า ภายใต้กรอบการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีหน่วยงานยื่นโครงการมากถึง 34,263 โครงการ วงเงินรวม 841,267 ล้านบาท โดยเฉพาะแผนงาน 3.2 ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจชุมชน

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.)เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ยื่นขอใช้เงินกู้ 40,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 79,604  กองทุนละ 500,000 บาท เพราะกองทุนหมู่บ้าน ถือเป็น 1 ในกลไกสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตร การผลิต การแปรรูป การตลาด การท่องเที่ยวชุมชน โดยมีสมาชิกเกือบ 13 ล้านบาท

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สทบ.ยืนยันถึงวัตุประสงค์ที่ยื่นขอใช้เงินกู้ในก้อนเดียว 40,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ แต่ด้วยจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกว่า 79,604 กองทุน จึงยังไม่รู้ว่า แต่ละกองทุนมีความต้องการอะไรที่เป็นการตอบโจทย์ของสมาชิกอย่างแท้จริง

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ จ้างนักศึกษา หรือ ลูกหลานของกองทุน ทำหน้าที่ในการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นว่า สมาชิกกองทุนหมู่บ้านมีอาชีพอะไร ความเป็นอยู่และมีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร เพื่อจะดูว่า ทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้านนั้นๆ มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เมื่อสำรวจข้อมูลครบเรียบร้อยแล้ว จึงจะกำหนดแผนพัฒนาชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผนด้วยกัน เช่น แผนการสร้างรายได้ แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แผนท่องเที่ยวชุมชน แผนการค้าออนไลน์ และแผนขนส่งชุมชน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านควรจะพัฒนาแบบไหน จะได้รับแผนนั้นไป

สทบ.ลั่น ทุก\"กองทุนหมู่บ้าน\"ต้องได้เท่ากัน 5 แสนบาท ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

“สมมุติการพัฒนาอาชีพ จะแถมแผนขนส่งชุมชนและแผนการค้าออนไลน์เข้าไปด้วย  แต่จะต้องได้รับข้อมูลจากการศึกษาก่อน จึงจะสามารถเสนอโครงการตรงกับความต้องการของชาวบ้านได้”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเงินจำกัด แต่“รักษ์พงษ์”ยืนยันว่า   พี่น้องทั้ง 79,604 กองทุนจะต้องได้รับโอกาสเท่ากัน ไม่สามารถแบ่งกองทุนใดกองทุนหนึ่งได้ว่า จะได้มากหรือน้อย และยืนยันว่า จะไม่ใช่เบี้ยหัวแตกแน่นอน 500,000 บาทสำหรับหมู่บ้าน ทำอะไรได้เยอะกว่าที่คิด

ขณะที่การขอใช้เงินกู้ 4แสนล้านบาทของหน่วยงานอื่นจากการตรวจสอบ ของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าการยื่นขอใช้เงินกู้ครั้งนี้ จำนวนมากไม่ตรงกับรูปแบบที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ต้องการให้ระบุไปเลยว่า จะเป็นการก่อสร้างโครงการใด หรือสร้างถนน ในหมู่บ้านไหน เหมืิอนๆที่เราเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่เสนอใช้เงินกู้มากที่สุด และส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ“การก่อสร้าง” และ “ถนน”

ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบในแง่หลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า เมื่อประชาชนไม่มีรายได้ จากการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จ้างงานงานเสียเอง เพื่อให้ประชาชนมีงานทำและเกิดรายได้ตามมา

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21-24  มิถุนายน พ.ศ. 2563