ปลาป่นโวยลดภาษีนำเข้าขย่มประมงเจ๊ง

21 มิ.ย. 2563 | 07:30 น.

ทะเลตื่น หลังกรมประมงมีแผนลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ “อำนวย” นายกฯ ปลาป่นเต้นคัดค้านสุดชีวิต ผวาประมงเจ๊งทั้งประเทศ เผยวันนี้ราคาปลาป่นต่ำสุดในรอบ 5 ปี อานิสงค์โควิดดันส่งออกเพิ่ม ยังไม่พ้นซวยต่อซ้ำเติมทุกข์

ปลาป่นโวยลดภาษีนำเข้าขย่มประมงเจ๊ง

นายอำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับหนังสือด่วนที่สุด จากคณะอนุกรรมการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ได้เชิญประชุมหารือแนวทางการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อ้างว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากคาอาหารสัตว์น้ำคิดเป็นร้อยละ 40 ของต้นทุนการผลิต นั้น ทางสมาคมก็ไม่เห็นด้วยและจะค้านในที่ประชุม ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย.นี้  เพราะถ้าปล่อยเจ๊งกันทั้งประเทศแน่นอน

“ทุกวันนี้หากในประเทศขาดแคลนจริง การส่งออกจะไม่มี ปัจจุบันในแต่ละปีมีการนำเข้ากว่า 6 หมื่นตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกประมาณ 1.4 -1.5 แสนตัน เป็นจังหวัดของโควิด-19 ช่วยทำให้เพิ่มการส่งออก ส่วนราคาปลาป่นเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ราคาปลาป่นเบอร์1 โปรตีน 60% ราคา 32 บาท ราคาที่เหมาะสมควรที่จะอยู่ 34-35 บาท แนวโน้มคาดว่าปีนี้การจับปลาน่าจะมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันถูกลง ชาวประมงขายปลาบริโภคและปลาอุตสาหกรรม ได้ราคาต่ำสุดในรอบหลายปี แต่ก็ยังกระทบกระเทือนน้อย เพราะราคาน้ำมันต้นทุนถูกลงก็สามารถมาถัวเฉลี่ยทำให้พออยู่ได้”

 

ปลาป่นโวยลดภาษีนำเข้าขย่มประมงเจ๊ง

นายอำนวย กล่าวว่า เข้าใจ อาหารสัตว์อยากได้ต้นทุนที่ถูกลง เป็นเรื่องของอุตสาหกรรม แต่ก็คงไม่ยอม เพราะถ้าปล่อยให้นำเข้ามาประมงตายแน่ ล้มหายตายจากระนาวแน่นอน แล้วถ้าปลาป่นแพงจริง ไทยก็คงไม่สามารถส่งออกได้

ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  เผยถึงสถานการณ์ราคาปลาป่นเดือนมิถุนายน ในประเทศทรงตัว และตลาดต่างประเทศจะโน้มลดลงจากที่เปรูจับปลาในฤดูกาลใหม่ได้ปริมาณมากขึ้น ส่วนในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.63 มีการนำเข้าปลาป่น จำนวน 21,768 ตัน สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 19,495 ตัน หรือสูงขึ้นร้อยละ 11.66 จาก เมียนมาร์ 68% เวียดนาม 13% อินเดีย 5% สหรัฐ 4% ชิลี 3% และส่งออกจำนวน 60,574ตัน สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 39,654 ตัน หรือสูงขึ้นร้อยละ 52.76 จาก จีน 47% เวียดนาม 32% ญี่ปุ่น 14% บังคลาเทศ 4% ไต้หวัน 2%

ต่างประเทศ ราคา ณ ตลาดเปรู ทรงตัวเดือนก่อน เนื่องจากการจับปลาของเปรูในฤดูกาลจับปลาใหม่มีปริมาณมากเกินกว่าที่คาดการณ์ และผู้ซื้อยังคงชะลอคำสั่งซื้อ

 

ปลาป่นโวยลดภาษีนำเข้าขย่มประมงเจ๊ง