มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการเยียวยาเกษตรกร โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2563 มีความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 ที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นบข. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติรับหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/2564 โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอมา 2 แนวทาง ได้แก่ 1.มีประกันรายได้ข้าว 5 ชนิดเหมือนในปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันรายได้ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ปริมาณไม่เกิน 14 ตันต่อครัวเรือน 2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 16 ตัน 3.ข้าวเปลือกเจ้า 1 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 30 ตัน 4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1.1 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 25 ตัน และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 16 ตันต่อครัวเรือน วงเงินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนแนวทางที่ 2 ปรับเพิ่มปริมาณข้าวต่อครัวเรือน คือประกันรายได้ในราคาเท่าเดิม แต่เพิ่มปริมาณประกันเพิ่มขึ้น โดยข้าวหอมมะลิ,ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเหนียว เพิ่มเป็น 20 ตัน และข้าวหอมปทุมธานี เพิ่มเป็น 30 ตัน จะต้องใช้วงเงิน 2.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากยังมีแนวทางที่ 3 ในกรณีหากความต้องการข้าวสูง เกษตรกรเผชิญภัยแล้ง โดยเฉพาะภาคอีสานที่ปลูกได้ครั้งเดียว จึงเห็นพ้องว่าน่าจะเพิ่มราคาประกันข้าว 3 ชนิดใหม่ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี โดยที่ประชุมมีมติให้กรมการค้าภายในไปทำแนวทางที่ 3 เพิ่ม พร้อมกับมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และกระทรวงพาณิชย์ ไปจัดทำแผนบริหารจัดการ รวมทั้งโครงการคู่ขนาน
“นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ชาวนาจะได้การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว และเงินทุนช่วยการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุดครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท ปัจจุบันมีชาวนากว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ”
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ วงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/2564 (จำนำยุ้งฉาง) วงเงินรวม 19,826.7 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 4,542.76 ล้านบาท) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/2564 วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้าน วงเงินขอชดเชย 562.50 ล้านบาท 3.โครงการชดเชยให้ผู้ประกอบการการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/2564 ในอัตราชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินรวม 610 ล้านบาท และอื่นๆ (กราฟิกประกอบ) รวมทุกโครงการที่กล่าวมาคาดจะใช้วงเงินในเบื้องต้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าว นบข. เผยว่า ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ครั้งที่ 1/2563 พร้อมกับหารือตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทบทวนโครงการประกันรายได้ข้าวแต่ละชนิดว่าราคาจะเป็นเท่าไร ปริมาณจะเท่าเดิม หรือจะเพิ่มเติมให้ต้องติดตาม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563