มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ใน 3 แพ็คเกจ ได้แก่ 1. แพ็คเกจ "กำลังใจ" 2. แพ็คเกจ "เราไปเที่ยวกัน" 3. แพ็คเกจ "เที่ยวปันสุข" ที่รัฐบาลสนับสนุนงบ 22,400 ล้านบาท ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบเงินกู้ 4 แสน กระตุ้นการท่องเที่ยว ในช่วง 4 เดือนนี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ต.ค.2563) ซึ่งจะมีการเสนอรายละเอียดทั้งมหดให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบความคืบหน้าล่าสุด ททท.ได้หารือร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย ถึงการจัดทำแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ที่จะใช้ในการลงทะเบียน ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับ แพ็คเกจ "เราไปเที่ยวกัน" และ แพ็คเกจ "เที่ยวปันสุข" ว่า จะกำหนดให้ผู้ที่เข้าลงทะเบียนรับสิทธิ์ใน 2 แพ็คเกจนี้ 1 คน จะได้รับสิทธิ์ 2 คน กล่าวคือ สิทธิ์ของคนที่เข้าไปลงทะเบียน 1 คน และคนที่ร่วมเดินทางไปด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่ลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูลของคนที่จะร่วมเดินทางไปด้วย และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวไปในเส้นทางเดียวกัน แต่ละคนจึงจะได้รับสิทธิ์ต่างๆตามที่กำหนดไว้ ดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ รัฐบาลจะจ่ายค่าโรงแรม ที่พัก ให้ในอัตรา 40% ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน โดยรัฐบาลจะจ่ายให้เมื่อเช็กเอาท์ รวมทั้งได้รับอี-วอลเชอร์ของผู้ที่ได้รับสิทธิ์อีก 600 บาทต่อคนต่อวัน ผ่านแอป “เป๋าตังค์” ของธนาคารกรุงไทยเพื่อนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ค่าใช้บริการในแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวจ่ายต้องออกค่าใช้จ่าย 60% ของค่าใช้จ่ายจริง
แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” รัฐบาลจะจ่ายค่าเดินทางให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ ทั้งสายการบิน รถขนส่งไม่ประจําทางข้ามจังหวัด และรถเช่า ในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มธนาคารกรุงไทย เพื่อรับโปรโมชั่น โค้ด
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มที่ธนาคารกรุงไทยจะจัดทำขึ้นแล้วเสร็จกว่า 80% ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการหารือกับภาคเอกชนทั้งในโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และสายการบิน อีกครั้ง
ส่วนจะประกาศการใช้งานเปิดให้ลงทะเบียนแพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน-เที่ยวปันสุข-กำลังใจ” อย่างเป็นทางการในช่วงใดนั้น ต้องรอให้สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นําเข้าเสนอคณะ รัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้าก่อน หากผ่านการเห็นชอบของครม. แล้ว จะเปิดให้ลงทะเบียน ได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศครั้งนี้ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ และให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก โดย แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง 2 ล้านคน-ครั้งในช่วง 4 เดือนดังกล่าว
ขณะที่แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” รัฐสนับสนุนงบประมาณ 18,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีที่พัก,โรงแรม,โฮมสเตย์ ได้ประโยชน์จำนวน 24,700 แห่ง ร้านอาหารได้รับประโยชน์ 36,755 ร้าน
ส่วนแพ็คเกตกำลังใจ ที่ออกมาเพื่อตอบแทนบุคลากรแนวหน้าในการรับมือโควิด-19 โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน เที่ยวฟรีผ่านบริษัทนำเที่ยว 13,000 รายรั ฐบาลใช้งบ 2,400 ล้านบาทคาดว่าจะเกิดรายได้หมุนเวียนอย่างน้อย 6,500 ล้านบาท