สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” รายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่น “เอสเอ็มอี” (SMEs) เดือนพฤษภาคม 63 โดยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐที่ให้สถานประกอบการหลายแห่งเปิดดำเนินการได้ และลดข้อจำกัดการเดินทางในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวในทุกภูมิภาค ด้านดัชนี ฯ อนาคต 3 เดือน ทะลุ 60.6 สูงสุดในรอบ 8 เดือน เพราะยอดขายดีขึ้น หลังจากที่มีมั่นใจสถานการณ์ "โควิด-19" เริ่มคลี่คลาย
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ที่ระดับ 27.6 มาอยู่ที่ระดับ 40.9 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นมาก แต่ยังคงต่ำกว่าฐาน 50 สะท้อนภาพรวมภาวะธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลใจ แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สาเหตุการปรับขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและบริการ และกำไร ที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่ระดับ 35.2 ,35.6 และ 35.1 ส่วนองค์ประกอบด้านการลงทุน และการจ้างงาน เพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 43.9 และ 42.5 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค และเกือบทุกสาขาธุรกิจ เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐมากขึ้นทำให้สถานประกอบการเริ่มดำเนินการได้ และจำหน่ายสินค้าและให้บริการได้ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
สำหรับภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.9 ,42.2 และ 40.3 ส่วนสาขาที่มีค่าระดับดัชนีฯ สูงที่สุด และเพิ่มมากที่สุด คือ บริการสุขภาพและเสริมความงาม อยู่ที่ระดับ 46.1 เพราะการปิดสถานประกอบการหลายเดือน ยอดใช้บริการจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังการเปิดกิจการได้ อย่างไรก็ตามจากการจำกัดคนใช้บริการ ทำให้สถานประกอบการยังมีข้อจำกัดในการให้บริการ เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกที่ค่าดัชนีฯก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าอุปโภค/บริโภค (Modern trade) เพราะได้ขยายเวลาเปิดกิจการส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ เอสเอ็มอี ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 37.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 27.8 เนื่องจากประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยและเดินทางสัญจรมากขึ้น ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และสถานีบริการน้ำมัน มีแนวโน้มขยายตัว
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 44.3 เพิ่มขึ้นจาก 29.6 เนื่องจากร้านค้าส่วนมากเริ่มเปิดกิจการ และกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 43.3 เพิ่มขึ้นจาก 26.6 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือก ทำให้ภาคเกษตรกรรม และร้านค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาค มีแนวโน้มขยายตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 38.1 เพิ่มขึ้นจาก 27.6 จากการที่ภาคการผลิตในพื้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้นจาก 27.8 แม้การท่องเที่ยวในพื้นที่ยังคงซบเซาจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ และอนุญาตให้ขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกผ่านด่านปาดังเบซาร์ได้เหมือนเดิม อีกทั้งราคายางพารามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 38.9 เพิ่มขึ้นจาก 26.4 จากธุรกิจหลายสาขาเริ่มขยายตัวเพราะการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะบริการสุขภาพและเสริมความงาม และร้านอาหาร
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 60.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ระดับ 53.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวค่อนข้างมาก และสูงกว่าค่าฐาน 50 เพราะ SMEs ส่วนใหญ่มองสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จากสัญญาณบวกของการขยายตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเริ่มจำหน่ายสินค้าและบริการได้มากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การติดเชื้อได้คลี่คลายลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เอสเอ็มอีคาดการณ์ทั้งกำลังซื้อ การผลิตทั้งสินค้า และการให้บริการ รวมไปถึงผลประกอบการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้าที่จะสูงขึ้นในอนาคตและข้อจำกัดการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ
ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SMEs ในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน 2. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล และ3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การแข่งขันในตลาด และราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน