เม็ดเงินที่ถูกผลักเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 555,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 123,086.67 ล้านบาท คิดเป็น 34.86% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 343,838 ล้านบาท แต่การเยียวยานี้กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้มองว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะยิ่งชะลอตัวมากกว่าไตรมาส 2 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคจากการที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนเท่านั้น
ความหวังสุดท้ายจึงอยู่ที่ การใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ให้เร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นขึ้นได้ในไตรมาส 3 ซึ่งหลังการคัดกรองโครงการที่ยื่นเสนอขอใช้เงินกู้ทั้งหมด 46,411 โครงการ วงเงินรวม 1.45 ล้านล้านบาท มีโครงการที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาท เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
"คมนาคม" ชง สภาพัฒน์ เคาะเยียวยาโควิด 6.6 พันล.
ปรอทแตก! ยื่นขอใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจพุ่ง 1.36 ล้านล้าน
ทั้ง 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาทนั้น เป็นแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 129 โครงการ วงเงิน 58,069.71 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 77 โครงการ วงเงิน 20,989.81 ล้านบาท และแผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยว 7 โครงการ วงเงิน 22,422.77 ล้านบาท
แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากคือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ 73 โครงการ วงเงิน 5,333.05 ล้านบาท เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้พึ่งพาตนเอง 15 โครงการ วงเงิน 19,330.64 ล้านบาท โครงการตามความต้องการของชุมชน(กองทุนหมู่บ้าน) 1 โครงการ วงเงิน 15,920.80 ล้านบาทจากวงเงินที่ขอไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล 25 โครงการ วงเงิน 13,673.53 ล้านบาท โลจิสติกส์ และ Digital Platform เพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับตลาด 11 โครงการ วงเงิน 71.68 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานราก 4 โครงการ วงเงิน 3,740 ล้านบาท
แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ/BCG 19 โครงการ วงเงิน 2,001.71 ล้านบาท เกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรสมัยใหม่ 35 โครงการ วงเงิน 16,054.11 ล้านบาท และท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ 23 โครงการ วงเงิน 2,933.99 ล้านบาท
ขณะที่แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยว มีที่จะเข้าครม.วันที่ 30 กรกฎาคมนี้้ 3 แพกเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศภายใต้วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อสอดรับกับมาตรการผ่อนคลาย ระยะ 5 ที่จะเริ่ม 1 กรกฎาคม ซึ่งรอบนี้รวมทั้ง ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด” และห้างสรรพสินค้า อนุญาต เปิดได้ 24 ชั่วโมง
แม้ไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศมานานกว่า 30 วันแล้ว แต่สิ่งที่ต้องท่องไว้เสมอคือ “การ์ดอย่าตก” เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมากลับพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากอย่างเป็นนัยสำคัญ
สิ่งที่น่ากลัวคือ หากมีการระบาดรอบ 2 ไม่เพียงเงินเยียวยาที่ใช้ไปจนจะหมด แต่รวมถึงเครื่องมือด้านนโยบายการเงินก็จะมีข้อจำกัดด้วย เพราะวิกฤติรอบนี้ เป็นเรื่องที่ี่คาดการณ์ยากจริงๆ
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563