นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจีนผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคการผลิตและภาคธุรกิจของจีนเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับสถิติส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. –พ.ค. 2563) มีมูลค่า 12,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 สินค้าของไทยหลายรายการมียอดการส่งออกไปจีนขยายตัวอย่างน่าพอใจ โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 1,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 67% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว54% และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 35% เครื่องดื่ม ส่งออกมูลค่า 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว11%
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกมูลค่า 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่งออกมูลค่า 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29% รถยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 164% ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ส่งออกมูลค่า 274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว94% แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ส่งออกมูลค่า 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 261% เป็นต้น
ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่ข้างต้นได้แต้มต่อการลดเลิกภาษีนำเข้าจากเอฟทีเอ อาเซียน-จีน หรือ ACFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ปี 2548 ส่งผลให้จีนลดเลิกภาษีนำเข้าให้กับสินค้าของไทยมากกว่า90% ของรายการสินค้าทั้งหมด (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป เป็นต้น) โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองแดง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในจีนแล้วทุกรายการสินค้า ส่วนผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้นเพียงยางไม่ผสมในลักษณะขั้นปฐมที่เก็บภาษีที่ในอัตรา 5% ในขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบจีนก็ทยอยลดภาษีลงให้ไทยในอัตราภาษีนำเข้าระหว่าง 0-25%
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกของไทยก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีกับจีน (ปี 2547) กับปี 2562 พบว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 310 %จากมูลค่า 7,113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 เป็นมูลค่า 29,169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าด้วยเอฟทีเออาเซียน-จีน ในปี 2562 มีอัตราสูงถึง90 %ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิจากเอฟทีเอ นอกจากนี้ ความตกลงฉบับนี้ ยังทำให้ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบจำพวกเคมี เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ ได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของไทย