รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และมีทิศทางเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยมีปัจจัยหลักที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ ราคาเหมาะสม บริการมีคุณภาพมาตร ฐานสากล บุคลากรเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัย อัธยาศัยไมตรีดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม สามารถดึงดูดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม ล่าสุดไทยได้รับการยกย่องอันดับ 1 ประเทศที่มีผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นไปทั่วโลก
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยว่า โครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปา เป็นโครงการที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สนับสนุนงบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มการบริการมูลค่าสูง (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ในปีงบประมาณ 2562
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนงานการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุก ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยมี ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ได้ผนึกกำลังกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมดำเนินการใน 5 โครงการ ประกอบด้วย
การศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬา สำหรับกิจกรรมมวยไทย ปั่นจักรยาน วิ่ง กอล์ฟ การเพิ่มขีดความสามารถกิจการสปาเพื่อสุขภาพภาคใต้ สปาล้านนา และการศึกษาภาพรวมการยกระดับความสามารถการแข่งขันของไทยให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก ด้วยนวัตกรรมบริการบนฐานวัฒนธรรมและจิตบริการแบบไทย
ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงาน Spearhead กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สกสว. เสริมว่า คณะผู้วิจัยศึกษาทางเชิงทดลอง การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลของการวิจัยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ บูรณาการผลลัพธ์ ผลกระทบ ผลประโยชน์ที่ได้รับ และการนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ ด้านสาธารณสุข ด้านวิชาการ ซึ่งชุดความรู้ใหม่ด้านกีฬาและสปา สามารถใช้ต่อยอดองค์ความรู้ และจัดทำแผนกลยุทธ์ขององค์กรภาครัฐและเอกชน ในด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปา เพื่อขับเคลื่อนผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ให้เกิดเป็นมูลค่าในด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างตัดสินใจชะลอการเดินทาง โดยมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวบ้าง นับเป็นโอกาสของไทย เพราะระบบสาธารณสุขประสิทธิภาพสูง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวและบริการของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ชุมชน และสังคม สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง พร้อมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้กลับมาในอนาคตอันใกล้
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3588 วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2563