ชม "ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายในปี63" เช้ามืด 8 ก.ค.

03 ก.ค. 2563 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2563 | 10:28 น.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนชม ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายในรอบปี เช้ามืด 8 ก.ค.นี้ ได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

ชม \"ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายในปี63\" เช้ามืด 8 ก.ค.

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า ช่วงเช้ามืดวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ สว่างเด่นเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออกบริเวณกลุ่มดาววัว  ตั้งแต่เวลาประมาณ 03:25 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้าดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ  มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก  หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยว ความหนาบางของเสี้ยวจะแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งการโคจร  และจะไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้เลย

นอกจากนี้ ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในเวลากลางดึก ซึ่งในครั้งนี้ เราจะเห็นดาวศุกร์ปรากฏก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยมักเรียก “ดาวประกายพรึก"

อนึ่ง ข้อมูลศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ดาวศุกร์ (LESA) ดาวศุกร์ (Venus) อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ไม่มีดวงจันทร์บริวาร ดาวศุกร์มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลก จนได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝดกับโลกของเรา โครงสร้างภายในของดาวศุกร์ ประกอบด้วย แกนกลางที่เป็นเหล็กมีรัศมีประมาณ 3,000 กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร และเปลือกแข็งที่ประกอบด้วยหินซิลิเกต

ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปดาวศุกร์คือ มาริเนอร์ 2 ในปี พ.ศ.2505 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายลำ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2532 ยานอวกาศแมกเจลแลนได้ใช้เรดาร์ในการสำรวจผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์เพื่อทำแผนที่พื้นผิวของดาว การสำรวจโดยใช้สัญญาณเรดาร์ทำให้ทราบระดับสูงของพื้นผิวดาวศุกร์ และพบว่าพื้นผิวดาวศุกร์ปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟใหญ่และที่ราบที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟหลายแห่ง นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นผิวดาวศุกร์ไม่มีหลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก เนื่องจากว่า อุกกาบาตจะถูกเผาไหม้ไปจนหมดในระหว่างที่ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์

ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นมีความหนาแน่นมาก ความกดอากาศบนพื้นผิวดาวศุกร์สูงกว่าความกดอากาศบนพื้นผิวโลก 90 เท่า หรือมีค่าเท่ากับความดันที่ใต้ทะเลลึก 1 กิโลเมตร  บรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ และมีชั้นเมฆอยู่หลายชั้นที่ประกอบไปด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (กรดกำมะถัน) ซึ่งมีความหนาหลายกิโลเมตร ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวดาวศุกร์  ชั้นบรรยากาศที่หนาทึบทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกกักเก็บความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 470°C  จะเห็นได้ว่าพื้นผิวดาวศุกร์ร้อนกว่าพื้นผิวดาวพุธมาก ทั้งๆ ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์กว่าดาวพุธถึงสองเท่าก็ตาม