ชำแหละ  6  ยาแรง ดันราคายาง ยังไม่กระดิก

07 ก.ค. 2563 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2563 | 12:53 น.

ชำแหละ 6 มาตรการรัฐดันราคายางไม่ออกฤทธิ์ ผลงานยังอืด  ชาวสวน โวย กยท.ทำงานไม่เป็น แทนที่จะชงจ่ายเงินประกันรายได้เฟสแรกที่ค้างจ่ายเกษตรกรกว่า 2,000 ล้านให้จบก่อน ดันไปเสนอพ่วงเฟส 2 ยิ่งทำล่าช้า 

 

ในปี 2561-2562 สถานการณ์ราคายางพาราในประเทศตกต่ำต่อเนื่อง โดยปี 2561 ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดที่เกษตรขายได้ในตลาดท้องถิ่นเฉลี่ยที่ 41 และ 42 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตามลำดับ และในปี 2562 เฉลี่ยที่ 42 และ 43 บาทต่อ กก. ตามลำดับ ซึ่งเป็นผล กระทบจากตลาดต่างประเทศ ราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลถึงราคายาง และเงินบาทแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขันส่งออกยางพารา และส่งผลถึงราคารับซื้อยางในประเทศที่ลดลง จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมารัฐบาลได้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพในทิศทางที่สูงขึ้น(ล่าสุดราคายางทั้ง 2 ชนิดช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 ยังเฉลี่ยที่ 37 และ 40 บาทต่อ กก.ตามลำดับ)

ชำแหละ  6  ยาแรง  ดันราคายาง  ยังไม่กระดิก

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยผ่าน กยท.และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้มีโครงการสำคัญออกมา 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 มีผลจ่ายเงินให้เกษตรกรใน 3 รอบรวม 21,073.59 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ) จำนวนเกษตรกร 3.61 ราย อย่างไรก็ดีจากเงินไม่พอจ่าย ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มีมติอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2,347 ล้านบาท กำลังรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ยื่นขอกู้ 510 แห่ง ได้รับอนุมัติและเบิกเงินกู้จาก ธ.ก.ส. แล้ว 375 แห่ง (ร้อยละ 74 ของจำนวนที่ยื่นขอกู้วงเงิน 11,870.33 ล้านบาท ส่งชำระคืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.แล้ว 224 แห่ง วงเงิน 9,984.182 ล้านบาท และยังไม่ส่งชำระคืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 151 แห่ง วงเงิน 1,886.153 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนยื่นขอกู้ 209 แห่ง ส่วนที่ 1 สินเชื่อวงเงิน 3,500 ล้านบาท (ปรับปรุง/ขยายกำลังการผลิต) ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 94 แห่ง เป็นเงิน 1,171.59 ล้านบาท ส่วนที่ 2 สินเชื่อวงเงิน 1,500 ล้านบาท (เงินทุน หมุนเวียน) ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 86 แห่ง เป็นเงิน 859.90 ล้านบาท

“สถาบันเกษตรกรบางแห่งต้องการวงเงินสินเชื่อเพิ่ม แต่ไม่สามารถเพิ่มวงเงินสินเชื่อได้ เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้ค้างชำระ และโครงการยังไม่สามารถดูดซับยางออกจากตลาดและผลักดันราคายางได้ตามเป้าหมายของโครงการ” 

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (วงเงิน 20,000 ล้านบาท) มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการน้อย บางส่วนที่ยื่นความประสงค์แล้วได้ขอยกเลิก หรือชะลอการสมัครเข้าร่วมโครงการเนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อยางในราคาชี้นำตลาดไม่ต่ำกว่า 0.50 บาทต่อกก. 

5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงิน 25,000 ล้านบาท) ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากการพิจารณาให้สินเชื่อเป็นไปตามความสามารถและศักยภาพ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่แต่ละธนาคารกำหนด

6. โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เป้าหมายคิดเป็นปริมาณน้ำยางสดจำนวน1 ล้านตัน (ต.ค. 62 - ก.ย. 65 รวม 3 ปี ) การประสานงานยังขาดความชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมแปรรูป และการใช้ยางพารา เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินงานให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบต่างๆ เช่นกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณได้รับจัดสรรงบประมาณ 2563 ล่าช้าจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามกรอบเวลาเดิมที่กำหนดไว้ได้

ด้านนายสวัสดิ์ ลาดปาละ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศและประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง กล่าว กยท.ทำงานไม่เป็น แทนที่จะขอเงินตกค้างกว่า 2,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 ให้ครบจำนวนก่อน ค่อยขอประกันรายได้ยางระยะ 2 แต่จะเอาถึง 2 เด้ง ยิ่งทำให้ล่าช้าไปใหญ่  

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3589 วันที่ 5-8 กรกฎาคม 2563