จากในฤดูนาปีปีการผลิต 2562/2563 ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ประเทศไทยเกิดภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อมาช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2562 เกิดอุทกภัย จากพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุดีเปรสชั่น “คาจิกิ” ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ปลูกข้าวที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ปี 2562 รวม 5 โครงการ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562
แหล่งข่าวจากกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/2564 สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 6.3 หมื่นตันแบบให้เปล่าแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 8.27 แสนครัวเรือน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ ในจังหวัดที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประสบภัย ได้แก่ 1.จังหวัดผู้ประสบภัยฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงใน 17 จังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี กำแพงเพชร เชียงราย น่าน นครสวรรค์ พิจิตร และ พิษณุโลก เป็นต้น 2. จังหวัดผู้ประสบอุทกภัย 22 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ และน่าน เป็นต้น
ทั้งนี้กรอบการช่วยเหลือสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรไร่ละ 10 กิโลกรัม (กก.) ตามพื้นที่ปลูกข้าวที่เสียหายอย่างสิ้นเชิง จากประสบภัยฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากเกษตรกร หรือกรณีเกษตรกร 1 ครัวเรือนมีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่หลายพื้นที่ (จังหวัด อำเภอ ตำบล) มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือทุกพื้นที่ แต่พื้นที่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 10 ไร่ และเกษตรกร 1 ครัวเรือน จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 1 พันธุ์เท่านั้น และต้องนำไปปลูกจริง ห้ามนำไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น
“ก่อนหน้านี้กรมการข้าวได้นำชั้นเมล็ดพันธุ์จากศูนย์ข้าวชุมชุนไปแจก แต่ปีนี้เมล็ดพันธุ์ขาดแคลน เพราะแปลงที่ได้รับรองจากรมประสบภัยแล้ง-น้ำท่วม จึงทำให้ดึง “สหกรณ์นิคมลานสัก” มารวบรวมข้าวเพื่อส่งแทน แต่ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจคุณสมบัติข้าวไม่ผ่าน จึงไม่เซ็นลงนามรับรอง และประกอบกับในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายอาจเริ่มดำเนินการเพาะปลูกข้าว 2 พันธุ์ดังกล่าว (หอมมะลิ,กข6)เป็นส่วนใหญ่แล้วจึงขอยกเลิกโครงการนี้ อีกด้านหนึ่งทางอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ออกมารับรองว่าสหกรณ์เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับรอง แล้วทำไมอยู่ๆ ยกเลิกสัญญา สหกรณ์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมด้วย ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ลงมาตรวจสอบแล้วว่าการจัดซื้อจัดจ้าง
เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ มีการทุจริตหรือไม่ ”
แหล่งข่าววงการค้าข้าว ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการล็อกสเปกหรือไม่ ทำไมต้องเป็นสหกรณ์นี้ ซึ่งได้มีการต่อรองราคา 386.1 ล้านบาท จากวงเงิน 400.4 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ฟันธงเลยว่ามีนักการเมืองเอี่ยว ต้องรีบเคลียร์ให้เร็วที่สุด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว จะต้องเคลียร์ทุกอย่างให้จบก่อนที่จะมีประชุม นบข. ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563