นายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้ดำเนินโครงการนิคมอุสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากพัฒนาโครงการบนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่เศษ มาว่า 2 ปี โดยได้ลงทุนแผนงานระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ตามข้อกำหนดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จนมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมอย่างมาก จึงมีความพร้อมในการที่จะให้การต้อนรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้ว แม้โครงการนี้เป็นการลงทุนของเอกชน แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลโดยกนอ.
อีกทั้งในปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานีเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(Northeastern Economic Corridor-NeEC) ทำให้โครงการเมืองนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เข้าไปอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ซึ่งจะยิ่งเสริมสร้างโอกาสและศักยภาพในการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก
นายเสนีย์ชี้จุดเด่นโครงการนี้ว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นเป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A R12 B9 และ B 8 ระบบรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย และล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 จะขยายจากนคร ราชสีมาถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่โครงการคืบหน้าไปมากแล้ว
“เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ของบริษัท เมืองอุตสาหกรมอุดรธานี จำกัด มีเป้าหมายเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial City) ประเภทอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานภายในโครงการ จะต้องตอบโจทย์ชาวอุดรฯและภาคอีสานตอนบน ที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่บนฐานวัตถุดิบจากผลิตผลการเกษตรเป็นหลัก คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ซึ่งการขออนุญาตประเภทของอุตสาหกรรมแต่ละชนิดนั้น ทางกนอ.จะเป็นผู้พิจารณา”
นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กล่าวว่า ระหว่างการพัฒนาโครงการ ได้ดำเนินการด้านการตลาดควบคู่กันไปตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยมีตัวแทนประสานนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อให้ข้อมูลรายละเอียด และเคยนำลูกค้าลง พื้นที่ดูโครงการมาก่อนแล้ว มีความพึงพอใจกับความก้าวหน้าที่พัฒนาไปรวดเร็ว และแสดงความสนใจจะมาลงทุน แต่หยุดชะงักไปจากเหตุเชื้อโควิด-19 ระบาด โดยยังประสานแจ้งจะนำนักลงทุนมาลง พื้นที่เมื่อปลดล็อกเปิดให้เดินทาง
ประกอบกับทางการญี่ปุ่นได้บทเรียนช่วงโควิด-19 ระบาด หลายประเทศในเอเซียสั่งปิดประเทศ ญี่ปุ่นไม่สามารถขนส่งสินค้าจากฐานผลิตดังกล่าวได้ จึงมีนโยบายสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นขยายการลงทุนสู่ฐานผลิตในประเทศที่มีนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยจะอุดหนุนหลายด้าน โดยเฟสแรกเน้นสินค้ากระดาษ หน้ากากอนามัย ยารักษาโรคหลายชนิด และประเทศไทยก็อยู่ในสายตาของนักลงของญี่ปุ่นที่อยู่อันดับต้น
ส่วนนักลงทุนจากจีนเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มทุนที่มีทุนหนา ตัดสินใจเร็ว ทางโครงการเองเตรียมพร้อมด้านข้อมูลต่างๆ พร้อมป้อนทันทีให้มากที่สุด เมื่อนักลงทุนกลุ่มนี้สนใจลงพื้นที่มาเก็บข้อมูล เนื่องจากอนาคตภูมิภาคนี้กำลังมีการเปลี่ยน แปลงไปแบบก้าวกระโดด เช่น โครงการรถไฟรางคู่กรุงทพฯ- หนองคาย กำลังได้รับการพัฒนาและมีเส้นทางผ่านจังหวัดอุดรธานี หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความ เร็วสูงจีน-ลาว ที่คืบหน้าไปไกลมากแล้ว โดยเมื่อเข้าไทยก็ต้องผ่านอุดรธานีเป็นจุดแรก ทำให้โครงการนิคมฯอุดรธานีตอบโจทย์ของทุนจีนได้อย่างดี
ส่วนแผนการพัฒนานิคมฯบนเนื้อที่ 2,171 ไร่ จะมี 2 ระยะ ระยะแรกพัฒนาในพื้นที่ 800 ไร่ ในจำนวนนี้จะมีโลจิสติกส์พาร์ค หรือท่าเรือบก เนื้อที่ 600 ไร่ เพื่อเป็นคลังกระจายสินค้าขนาดใหญ่ ที่ทำการศุลกากร คลังพักสินค้าหรือสินค้าทัณฑ์บน ห้องเย็น รองรับระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ที่จะพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนที่เหลือรอการพัฒนาในระยะต่อไป โดยพื้นที่โลจิสติกส์พาร์คเชื่อมต่อกับพื้นที่ของการไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ด้านตะวันออกของสถานีหนองตะไก้ ซึ่งได้มีความเห็นชอบร่วมของสองฝ่ายที่จะวางรางรถไฟจากสถานีฯ มาต่อเชื่อมกับพื้นที่โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบแล้ว
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563