การใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในธุรกิจต่างๆมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่นำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ล่าสุด กรมสรรพสามิตเตรียมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการจัดเก็บภาษี นำร่องที่กลุ่มแอลกอฮอล์เป็นกลุ่มแรกปีหน้านี้
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตกำลังนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้จัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทดแทนการใช้คน หรือเครื่องมือรุ่นเก่าในการคำนวณภาษี เพื่อแก้ปัญหาการรั่วไหลของระบบเดิมที่มีช่องโหว่อยู่มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บ ‘ภาษีที่ดิน’ ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
โดยได้นำร่องนำระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Codding) มาจัดเก็บภาษีสินค้าเบียร์กระป๋อง และเบียร์ขวดที่ผลิตในประเทศเป็นชนิดแรกพร้อมกันทุกโรงงานในปีหน้า และ หลังจากนั้นจะขยายไปใช้กับภาษีบุหรี่ น้ำมัน และสินค้าอื่นๆ ต่อไป
“ที่เลือกใช้กับสินค้าเบียร์ก่อน เพราะปัจจุบันเบียร์จะเสียภาษีในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปหลังนำสินค้าออกจากโรงผลิตไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่มีการติดแสตมป์หรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี มีเพียงการพิมพ์ข้างกระป๋องว่าชำระภาษีแล้ว ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ชัดว่าเบียร์ขวดหรือเบียร์กระป๋องนั้น เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ โดยผลการศึกษาคาดว่าหากใช้วิธีนี้จะช่วยให้กรมฯ เก็บภาษีเบียร์เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาทต่อปี”นายพชร กล่าว
ทั้งนี้ การเก็บภาษีเบียร์ปัจจุบันมีการใช้ระบบโฟลว์ มิเตอร์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในสายการผลิตโรงงานเบียร์คอยตรวจสอบ โดยกรมจะมีต้นทุนค่าติดตั้ง 100 ล้านบาท มีอายุใช้งานจำกัด และมีต้นทุนบำรุงรักษาอีกปีละ 15-20 ล้านบาท แต่การใช้ระบบดังกล่าวยังพบว่า ทำได้เพียงแค่การสอบเทียบระหว่างน้ำเบียร์ที่ปล่อยออกมากับจำนวนเบียร์ที่ผลิตได้ในแต่ละวันเท่านั้น แต่ไม่สามารถยืนยันจำนวนเบียร์ที่ผลิตออกมาอย่างถูกต้อง หรือดูค่ากลางของการสูญเสียเพื่อใช้คำนวณการเก็บภาษีได้แม่นยำ
ทั้งนี้ การนำระบบ Direct Codding มาใช้ กรมฯได้ดำเนินการตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกรมไม่ต้องลงทุนระบบแต่จะให้คนกลางที่ชำนาญเรื่องการทำเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์มาดูแล ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยกว่าเดิม มีการใช้ในหลายประเทศ และไม่มีแสตมป์เสียหาย อีกทั้งยังเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับทั้งกรมและผู้ผลิตเบียร์ ส่วนกระบวนการคัดเลือกผู้มาให้บริการ จะดำเนินการโดยประกาศเชิญชวนทั่วไปตามกฎระเบียบของทางราชการในทุกขั้นตอน
สำหรับงบประมาณการจ่ายค่าพิมพ์ เบื้องต้นกำหนดกรอบใช้งบไว้ 7 ปี วงเงิน 8,038 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงกว่าค่าจัดพิมพ์แสตมป์ที่กรมฯ ทำอยู่ เพราะระบบนี้จะเป็นการพิมพ์ในสายการผลิต และไม่มีมูลค่าแสตมป์เสียหาย ที่สำคัญกรมฯ การใช้งบฯจะต้องขออนุมัติงบประมาณในกรอบวงเงินทุกปี โดยผลดีที่ได้รับมั่นใจว่าการชำระภาษีไม่มีการรั่วไหล ดีกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกรมยังได้ข้อมูลแบบเวลาจริง ของยอดภาษีที่จะได้รับในเดือน สามารถนำมาประมาณการจัดเก็บรายได้ที่แม่นยำ